วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

‘No Man’s Land’ VI แล้วไปไหน? : นพ.ปฐมพงษ์ อึ๊งประเสริฐ


‘No Man’s Land’ VI แล้วไปไหน? : นพ.ปฐมพงษ์ อึ๊งประเสริฐ

‘No Man’s Land’ VI แล้วไปไหน? : นพ.ปฐมพงษ์ อึ๊งประเสริฐ

1 Star2 Stars3 Stars4 Stars5 Stars (1 votes, average: 5.00 out of 5)

สังคม VI ในเมืองไทยใหญ่ขึ้นทุกวัน บรรดานักลงทุนที่เรียกตัวเองว่าเป็น “แวลู อินเวสเตอร์” ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ตลาดหุ้นคึกคักแบบนี้ และมี “แวลู อินเวสเตอร์” รุ่นก่อนๆ ที่ประสบความสำเร็จให้เห็นเป็นแบบอย่างจำนวนมาก
ผมเองคลุกคลีกับสังคมของ VI มาตลอด มีสิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตได้ก็คือ ถึงแม้ว่าจำนวนสมาชิกของเวบบอร์ด และคนทีเรียกตัวเองว่าเป็น “แวลู อินเวสเตอร์” จะมีมากขึ้น แต่จำนวนคนที่พัฒนาตัวเองได้มาถึงขั้นที่ VI ท่านอื่นยอมรับให้เป็น”เซียน” กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่มาก และว่ากันตามจริง ถ้าเทียบเป็นจำนวนเปอร์เซนต์ ผมคิดว่าน่าจะน้อยกว่าในสมัยก่อนด้วยซ้ำ
แม้แต่คนใกล้ตัวของผมเอง ซึ่งหลายๆคนผันตัวเองมาจากการเป็นนักเก็งกำไรรายวัน มาใช้หลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า เขาหรือเธอเหล่านี้มักจะมีพื้นฐานของการเป็นแวลู อินเวสเตอร์ที่ดี และมักจะมีความสามารถในการวิเคราะห์กิจการได้ดีในระดับหนึ่ง สามารถอ่าน / ตีความงบการเงิน และใช้ financial ratio ง่ายๆ ได้พอสมควร
แต่ปัญหาของเขาหรือเธอเหล่านี้ก็คือ มักจะไม่มีความสามารถในการหาหุ้นขึ้นมาเอง (ดังนั้นเราจึงไม่ต้องแปลกใจกับปรากฏการณ์ตามแห่ กับหุ้นที่ได้ชื่อว่ามี”เซียน”วีไอ สิงสถิตย์อยู่) และมักจะไม่มีความแม่นยำในการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของกิจการ
ซึ่งจากปัญหาทั้งสองข้อนี้ ทำให้เขาหรือเธอเหล่านั้น มักจะต้องซื้อหุ้น “แพง” หรือซื้อ “ไม่ทัน” เนื่องจากกว่าที่ตัวเองจะทราบว่าหุ้นตัว “น่าลงทุน” ก็มักจะถูกบรรดา “เซียน” วีไอ ไล่ซื้อไปล่วงหน้าเสียก่อน และเวลาที่จะขาย เขาหรือเธอเหล่านั้นก็มักจะขาย “เร็วไป” หรือ “ช้าไป” อยู่เรื่อยๆ เนื่องจากความไม่เฉียบคมของการประเมินมูลค่าของกิจการนั่นเอง
แวลู อินเวสเตอร์มือใหม่ หรือมือกลางเก่ากลางใหม่ ที่อยู่ในภาวะเช่นนี้ มักจะรู้สึก frustrated อย่างมากบางคนอาจจะอยู่ในวงการมาแล้วหลายปี แต่รู้สึกว่าตัวเองยังไม่พัฒนาไปไหน ยังต้องเป็น วีไอ ไม้สอง ไม้สาม อยู่ร่ำไป บางคนก็ยังรู้สึกว่าตัวเองหามูลค่าของกิจการไม่เคยได้ และมักจะมีความไม่มั่นใจว่า นี่คือเวลาที่เราควรจะซื้อ หรือควรจะขาย
นี่คือช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับนักลงทุน ที่กำลังจะผันตัวเอง “แมงเม่า” ไปสู่ “VI มืออาชีพ” ถ้าจะให้เปรียบ นี่ก็อาจจะเป็น “วัยรุ่น” ของการลงทุน ที่เรากำลังจะเปลี่ยนผ่านจากการเป็นเด็กไปสู่การเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว หรือถ้าจะเปรียบเป็นการเดินทาง นี่อาจจะเป็นช่วงที่เรากำลังผ่านทะเลทรายที่แห้งผาก และไม่มีมนุษย์คนไหนกล้าจะอาศัยอยู่ (No Man’s Land) ก่อนจะไปถึงจุดมุ่งหมายที่สวยงามของเรา
ปกตินักเดินทางจะทำอย่างไรหากมาถึง No Man’s Land? นักเดินทางที่มีแผนที่และเข็มทิศที่ดี ก็มักจะผ่านดินแดนแห่งนี้ไปไม่ยาก แต่บางคนก็หลงในดินแดนนี้ อย่างที่หาทางออกไม่ได้ บางคนเลือกที่จะล่าถอยกลับไปยังดินแดนการเก็งกำไร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะหากเขาหรือเธอเหล่านั้น ฝ่าแดนอันตรายนี้ไปได้ เขาหรือเธอคนนั้นก็จะกลายเป็นแบบอย่างและเป็นคนกรุยทางให้กับนักลงทุนรุ่นต่อๆไป อันจะทำให้สังคมนักลงทุนเน้นคุณค่าของประเทศเรายิ่งเข้มแข็งขึ้นไป
ผมเองก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่า ตัวเองผ่านพ้นแดนอันตรายนี้ไปได้หรือยัง แต่ในฐานะของนักลงทุนเน้นคุณค่าที่เคยเข้าถึง No Man’s Land นี้มา ผมมีข้อแนะนำบางอย่างที่จะทำให้เพื่อนนักลงทุนที่กำลังเดินในดินแดนแห่งนี้ หรือที่กำลังจะเข้ามา ได้เดินหน้าฝ่าดินแดนนี้ไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อแรกเลยคือ เราต้องมีความรู้ความเข้าใจในการมองธุรกิจมากกว่าเดิม ในฐานะ VI หัดคลาน เราอาจจะเน้นไปที่กิจการง่ายๆ อาศัยงบการเงินและ financial ratio ช่วยตัดสินใจในการลงทุน แต่เมื่อเราจะก้าวไปอีกขั้น เราก็จำเป็นที่จะต้องเพิ่ม circle of competency และว่ากันตามจริงแล้ว VI ที่ประสบความสำเร็จในระยะยาว ก็คือคนที่มอง business model และ megatrend ขาดนั่นเอง
แวลู อินเวสเตอร์หลายคน อาจไม่ได้มีพื้นเพมาจากคนทำธุรกิจหรือแม้แต่ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางสายนี้ (ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น) อาจจะบอกว่า การที่จะเข้าธุรกิจได้ทะลุปรุโปร่งนั้น เป็นเรื่องยากเกินความสามารถ ซึ่งก็อาจจะจริงในระดับหนึ่ง ว่าเราคงจะไม่สามารถมีมุมมองแบบคนทำธุรกิจจริงๆได้ 100% แต่ผมก็ยังเชื่อว่า ทักษะการมองธุรกิจ เป็นสิ่งที่ “ฝึก” กันได้
นักลงทุนที่มาถึง No Man’s Land ผมเชื่อว่ามีหลักของการลงทุนแบบเน้นคุณค่ามากพอสมควรแล้ว ดังนั้น หนังสือเล่มต่อไปที่เขาหรือเธอเหล่านั้นควรจะอ่าน จะไม่ใช่หนังสือการลงทุนเน้นคุณค่าแล้ว หากแต่ควรจะเป็นหนังสือธุรกิจ แนวคิดทางธุรกิจ มาร์เกตติ้ง การบริหารองค์กร หรือบันทึกประสบการณ์ของผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ธุรกิจ ซึ่งผมมองว่าเราควรจะอ่านอย่างน้อยสัปดาห์ละฉบับ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรม และภาพของเศรฐกิจมหภาค
ข้อสองคือ เราควรจะต้องมีสังคมนักลงทุน ผมมองว่ากิจกรรมการพูดคุยและถกเถียงกันเรื่องของตัวกิจการระหว่างแวลู อินเวสเตอร์ เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์อย่างมาก ทั้งในแง่ที่มีคนช่วยเราตรวจสอบไอเดียในการลงทุน และ valuation ของเราต่อบริษัทใดบริษัทหนึ่ง รวมทั้งเราเองก็อาจจะได้ไอเดียการลงทุนจากคนอื่นมา “ทำการบ้าน” ต่อ
และเหนืออื่นใด การถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าคนอื่นจะมาวิพากษ์เรา หรือ เราวิพากษ์ไอเดียคนอื่นนั้น จะช่วย “ลับ” เราให้เรา “คม” และ “เฉียบขาด” ขึ้นเรื่อยๆ
ข้อสามคือ เราต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับกิจการในตลาดหลักทรัพย์ให้มาก การที่เรายิ่งรู้จักกิจการมาก จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการลงทุนให้มากขึ้น ถ้ามีเวลาว่าง ผมแนะนำว่าแวลูอินเวสเตอร์ที่ดีควรอ่าน 56 -1 ให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 1 – 2 บริษัท หรือถ้าจะให้ง่ายกว่า เราก็อาจจะศึกษาบริษัทจากปากของผบห.โดยตรงผ่านงาน opportunity day หรือ company visit ซี่งนอกจากจะทำให้เรารู้จักกิจการนั้นๆลึกซึ้งขึ้นแล้ว เราจะเห็นภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรม กลยุทธ์ที่ผบห.บริษัทต่างๆนำออกมาใช้ รวมถึงเราจะได้เห็นถึงสไตล์การบริหารองค์กรที่แตกต่างกัน อันจะเป็นการเสริมมุมมองการวิเคราะห์ธุรกิจให้กับเราอีกทาง
ข้อสี่ที่ผมอยากจะแนะนำคือ พยายามจดบันทึกข้อผิดพลาดของตัวเองไว้ และนำข้อผิดพลาดมาวิเคราะห์ว่าเราพลาดไปเพราะอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง valuation ยกตัวอย่างเช่น หุ้นตัวหนึ่งเรามองว่าเป็นหุ้นงั้นๆและขายไปตอน PE 10 แต่ในที่สุดตลาดก็ให้ราคามันถึง PE 15 เช่นนี้เราก็ควรกลับไปมองว่า valuation ของเรามีปัญหาตรงไหน ทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ( ผมเองก็ตกผลึกกับแนวคิดหุ้นถูกเรื้อรังหลังจากที่ผมเคย “พลาด” โดนหุ้นถูกจำนวนเรื้อรังจำนวนหนึ่งเล่นงาน )
และสุดท้ายที่ผมอยากจะฝากไว้คือ “อย่าท้อ” และ “อย่าเลิก” การเดินทางใน No Man’s Land อาจจะยากลำบากและชวนให้หันหลังกลับ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะแนะนำไว้คือว่า ประสบการณ์คือครูที่ดีที่สุด
การเดินหลงทางใน No Man’s Land อาจจะเป็นความเจ็บปวด แต่นั่นก็คือบทเรียนที่จะไม่ทำให้เราเดินหลงทางนั้นซ้ำสอง
ผมเชื่อในศักยภาพของพวกเราทุกคน ผมเชื่อถ้าพวกเราอยู่ในดินแดนแห่งนี้นานพอ ประสบการณ์จะหล่อหลอมให้เราแข็งแกร่งขึ้น จนฝ่าดินแดนแห่งนี้ออกไปได้
No Man’s Land : VI แล้วไปไหน
นพ.ปฐมพงษ์ อึ๊งประเสริฐ (reiter)
April 16, 2011
http://reitertvi.wordpress.com
1 Star2 Stars3 Stars4 Stars5 Stars (1 votes, average: 5.00 out of 5)

http://www.sarut-homesite.net/no-man%E2%80%99s-land-vi-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99-%E0%B8%99%E0%B8%9E-%E0%B8%9B%E0%B8%90%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A9%E0%B9%8C/

เพิ่มทุน (1-3) : นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์



เพิ่มทุน (1-3) : นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

เพิ่มทุน (1-3) : นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

1 Star2 Stars3 Stars4 Stars5 Stars (4 votes, average: 4.00 out of 5)
รวมบทความที่ให้ความรู้ด้านการลงทุน โดยพี่โจ๊ก – นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ อีกครั้งครับ
####

ทุกธุรกิจต้องมีเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับลงทุนเพิ่มทุกปีเพื่อสร้างกำไรให้เติบโต ต่อให้ธุรกิจไม่ต้องการจะเติบโตเลย ก็ยังต้องมีเงินทุนส่วนหนึ่งไว้ใช้สำหรับการบำรุงรักษาสินทรัพย์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพเดิมเป็นอย่างน้อย เว้นแต่ต้องการจะเลิกทำธุรกิจแล้วเท่านั้น
บริษัทมีทางเลือก 3 ทางที่จะหาเงินมาลงทุน ดังนี้
1. เก็บกำไรสะสมไว้ลงทุนส่วนหนึ่งแทนที่จะจ่ายเป็นเงินปันผลออกมาทั้งหมด
2. กู้เงินมาลงทุน โดยชำระดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้ตามกำหนด
3. เพิ่มทุน
บริษัทมักจะเลือกทางเลือกที่หนึ่งก่อน ถ้าไม่ได้ก็สอง ถ้าไม่ได้ก็สาม ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ก็ชอบแบบนั้น
นักลงทุนมักเข้าใจผิดว่า กำไรสะสม เป็นแหล่งเงินที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำที่สุด เพราะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเหมือนอย่างเงินกู้ และไม่ทำให้เกิด dilution effect (EPS ลดลง) เหมือนการเพิ่มทุน
แต่ความจริงแล้ว กำไรสะสมจัดเป็น Equity อย่างหนึ่ง จึงมีต้นทุนสูงกว่าเงินกู้ ถึงแม้ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแต่ก็ต้องสร้างผลตอบแทนให้ได้สูงกว่าเงินกู้เพื่อชดเชยความเสี่ยงของการใช้ Equity ลงทุน มิฉะนั้นจะส่งผลต่อ ROE ของบริษัทและราคาหุ้นในที่สุด ถ้าบริษัทหาวิธีสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าต้นทุนการเงินของกำไรสะสมไม่ได้ บริษัทควรปันผลออกมาให้หมด เพราะนักลงทุนจะได้มีทางเลือกที่จะนำเงินก้อนนั้นไปลงทุนในหุ้นตัวอื่นที่สร้างผลตอบแทนได้มากกว่า ที่จริงแล้ว เงินกู้ต่างหากที่มีต้นทุนการเงินน้อยที่สุด
ทฤษฏีทางการเงินบอกว่า สาเหตุที่บริษัทเลือกใช้กำไรสะสมก่อนกู้เงินเป็นเพราะ “ความสะดวก” ในการระดมทุน (หลักของ Pecking Order) เพราะ กำไรสะสมเอาไปใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องติดต่อกับเจ้าหนี้หรือผู้ถือหุ้นให้ยุ่งยาก บริษัทจึงชอบใช้กำไรสะสมมากกว่าเงินกู้ ทั้งที่ต้นทุนการเงินสูงกว่า ส่วนการเพิ่มทุนนั้นสะดวกน้อยที่สุด เพราะต้องฝ่าแรงคัดค้านจากผู้ถือหุ้นในที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้ได้ บริษัทจึงนิยมเก็บการเพิ่มทุนไว้เป็นทางเลือกสุดท้าย
บริษัทที่ต้องการรักษาระดับการเติบโตให้สูงอย่างต่อเนื่องนั้น ไม่สามารถอาศัยกำไรสะสมเป็นแหล่งเงินทุนตลอดไปได้ ถึงจุดหนึ่งจะต้องมีการเพิ่มทุนในที่สุด ในทางทฤษฏีแล้ว บริษัทที่ต้องการเติบโตเฉลี่ยในระยะยาวให้ได้เกิน ROE จะต้องมีการเพิ่มทุน เช่น ถ้าบริษัทมี ROE เท่ากับ 10% ถ้าบริษัทต้องการเติบโตเฉลี่ยในระยะยาวเกิน 10% จะต้องมีการเพิ่มทุนด้วย นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่า ทำไม ROE เป็นตัวเลขตัวหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการลงทุนด้วย เพราะ ROE ที่สูงจะช่วยลดความจำเป็นในเพิ่มทุนได้นั่นเอง
ดังนั้น การเพิ่มทุนไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีเลวร้ายเสมอไป การที่นักลงทุนค้านเสมอเมื่อเห็นบริษัทเพิ่มทุน ก็เหมือนกับนักลงทุนไม่อยากเห็นผู้บริหารมีความกล้าคิดกล้าทำเพื่อทำให้กิจการเติบโต ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือว่า บริษัทเพิ่มทุนไปโดยมีโอกาสในการเติบโตที่มีศักยภาพรองรับอยู่หรือไม่ เพราะถ้ามี การเพิ่มทุนก็จะทำให้กำไรเติบโตขึ้นในอัตราที่สูงกว่าจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้นรวยกว่าเดิมนั่นเอง แต่ถ้าขาดโอกาสในการเติบโตเสียแล้ว การเพิ่มทุนก็จะส่งผลเสียต่อผู้ถือหุ้นแน่นอน
เพราะฉะนั้น เมื่อใดที่บริษัทจะเพิ่มทุน นักลงทุนควรให้ความสนใจกับรายละเอียดของการใช้เงินให้มาก ว่าบริษัทเอาเงินไปใช้ลงทุนอะไรกันแน่ อย่ามัวแต่สนใจว่าบริษัทควรเพิ่มทุนหรือก่อหนี้มากกว่ากัน จนละทิ้งประเด็นนี้ที่สำคัญยิ่งกว่า ถ้าโครงการไม่ดี ใช้เงินกู้หรือเงินกูก็ไม่ดีทั้งนั้น
เพิ่มทุน (ตอนที่ 1)
นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
Wednesday, 16 April 2008
####
เพิ่มทุน (ตอนที่ 2)
Wednesday, 23 April 2008
โดยปกติแล้ว บริษัทมักเพิ่มทุนโดยให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นเดิมได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้นก่อน (ซื้อได้ตามสัดส่วนที่ผู้ถือหุ้นเดิมถืออยู่) ทั้งนี้ ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเดิมได้รักษาสัดส่วนการถือหุ้นของตัวเองไว้ไม่ให้ลดลง (อันจะส่งผลต่อเสียงโหวต)
ในบางกรณี บริษัทจงใจขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยเฉพาะ (Private Placement : PP) โดยไม่ให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นเดิมในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนก่อน เหตุผลก็คือ บริษัทนั้นสามารถเอื้อประโยชน์บางอย่างให้กับธุรกิจของบริษัทได้ เช่น อาจจะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีบางอย่างที่บริษัทอยากได้ หรือมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าที่แข็งแกร่ง เป็นต้น บริษัทจึงจำเป็นต้องยอมให้บริษัทนั้นเข้ามาถือหุ้นเพื่อให้บริษัทนั้นยอมเปิดเผยเทคโนโลยีหรือยอมจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัทให้ เราเรียกผู้ถือหุ้นแบบนี้ว่าเป็น Strategic shareholders ของบริษัท ในบางกรณี บริษัทถึงกับต้องยอมขายหุ้นเพิ่มทุนในราคาที่มีส่วนลดจากราคาตลาดให้อีกด้วย ขึ้นอยู่กับอำนาจการต่อรองของ Strategic shareholders
ในบางกรณี บริษัทจงใจขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (Public Offering : PO) โดยไม่ได้ให้สิทธิพิเศษใดๆกับผู้ถือหุ้นเดิมในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ก่อน ซึ่งเป็นวิธีการเพิ่มทุนที่ผู้ถือหุ้นเดิมเสียสิทธิ์
กรณีเช่นนี้ บริษัทมักจะอ้างว่าเป็นเพราะหุ้นเก่ามีจำนวนผู้ถือหุ้นน้อยเกินไป เลยถือโอกาสกระจายหุ้นให้คนใหม่ๆบ้าง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องไปในตัว เหตุผลนี้โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าฟังไม่ขึ้น ผมมักจะคิดในใจว่า น่าจะเป็นเหตุผลส่วนตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่บางคนมากกว่า ที่ไม่อยากซื้อหุ้นเพิ่มทุนด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่มาตัดสิทธิ์ผู้ถือหุ้นเดิมทุกคนไม่ให้มีสิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้นก่อนซะงั้น หรือว่ารู้ตัวว่าเคยหักหลังผู้ถือหุ้นเก่ามาก่อน ก็เลยกลัวผู้ถือหุ้นเก่าไม่ซื้อ
ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านท่านใดมองเห็นเหตุผลอย่างอื่นที่ดีๆของ PO ที่ผมอาจจะมองข้ามไปหรือเปล่า ถ้าหากคิดออกช่วยแชร์ด้วย ผมคิดไม่ออกจริงๆ โดยส่วนตัวแล้ว ผมว่าการออก PO ถือเป็นสัญญาณลบอย่างหนึ่งเกี่ยวกับธรรมภิบาลของบริษัท
กลับมาที่กรณีปกติอีกครั้ง ที่บริษัทให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นเดิมซื้อหุ้นเพิ่มทุนก่อน ปกติแล้วบริษัทจะประกาศให้ทราบว่า ผู้ถือหุ้นเก่ากี่หุ้นจะมีสิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่กี่หุ้น ในราคาหุ้นละกี่บาท ตัวอย่างเช่น หุ้นเก่า 2 หุ้นซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ 1 หุ้น อย่างนี้ก็แสดงว่า หุ้นเพิ่มทุนมีจำนวน 50% ของหุ้นที่มีอยู่เดิม เช่น ถ้าเดิมบริษัทมีหุ้นทั้งหมด 100 ล้านหุ้น ก็แสดงว่าออกหุ้นเพิ่มทุน 50 ล้านหุ้น ผู้ถือหุ้นเดิม 2 หุ้นจึงซื้อหุ้นใหม่ได้ 1 หุ้น เป็นต้น
ปกติแล้ว บริษัทจะกำหนดราคาใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนขึ้นมาซึ่งแตกต่างจากราคาตลาดได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทต้องการเงินเท่าไรจากการเพิ่มทุนครั้งนั้น เช่น บริษัทมีแผนจะใช้เงิน 50 ล้านบาท ก็ต้องขายหุ้นเพิ่มทุนที่ราคาหุ้นละ 1 บาท เป็นต้น
สมมติว่า ราคาหุ้นเก่าในตลาดขณะนั้นอยู่ที่ประมาณ 1 บาทด้วย อย่างนี้หุ้นเพิ่มทุนกับหุ้นเดิมก็มีราคาใกล้เคียงกัน แต่ถ้าลองคิดดูให้ดี ถ้าบริษัทต้องการระดมทุน 50 ล้านบาท บริษัทมีวิธีออกแบบหุ้นเพิ่มทุนได้หลายแบบ เช่น ออกหุ้นเพิ่มทุน 50 ล้านหุ้น หุ้นละ 1 บาท หรือ ออกหุ้นเพิ่มทุน 100 ล้านหุ้น หุ้นละ 0.50 บาทก็ได้เหมือนกัน แล้วสองวิธีนี้มันมีข้อแตกต่างกันยังไง?
ในแง่จำนวนเงินที่ระดมได้นั้นไม่แตกต่าง แต่ในแง่ของความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ถือหุ้นนั้นต่างกันมาก การออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวนมากๆ และขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมากๆนั้น เป็นการบีบให้ผู้ถือหุ้นเดิมต้องเพิ่มทุน มิฉะนั้นแล้วสัดส่วนการถือหุ้นของตนเองจะลดลงอย่างมหาศาล เพราะถ้าไม่เพิ่มทุน ก็เหมือนกับทิ้งสิทธิ์ในการซื้อหุ้นในราคาต่ำๆไปเฉยๆ บริษัทที่มี outlook ที่ไม่ดี แต่ต้องการบีบบังคับให้ผู้ถือหุ้นเดิมใส่เงินเข้ามาเพิ่ม อาจใช้กลวิธีแบบนี้ ดังนั้นการกำหนดราคาหุ้นเพิ่มทุนก็เป็นอะไรที่สะท้อนถึงธรรมภิบาลของบริษัทได้เหมือนกัน
เพื่อแก้ปัญหาผู้ถือหุ้นบางคนที่ไม่ต้องการจะเพิ่มทุน บางบริษัทนิยมแจกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุน (หรือที่เรียกว่าวอร์แรนต์) ให้แทนที่จะเพิ่มทุนเฉยๆ วิธีนี้ก็ดีเหมือนกัน เอาไว้จะอธิบายถึงอีกครั้งว่าเป็นอย่างไรตอนที่เขียนถึงวอร์แรนต์นะครับ
ประเด็นเรื่องเพิ่มทุนยังไม่จบครับ ไว้มาต่อคราวหน้า
####
ในกรณีที่บริษัทให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นเดิมซื้อหุ้นเพิ่มทุน บริษัทจะกำหนดวันหนึ่งขึ้นมาเป็นวัน cut off เรียกว่าใครที่เข้าไปซื้อหุ้นหลังวันนั้นจะถือว่า “มาช้า” หมดสิทธิ์ได้รับจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน วิธีดูง่ายๆก็คือ ต้องซื้อหุ้นของบริษัทก่อนที่จะขึ้นเครื่องหมาย XR (eXcluding Rights) นั่นเอง
ในวันแรกที่หุ้นขึ้นเครื่องหมาย XR ราคาหุ้นในกระดานจะร่วงลงอย่างมีนัยสำคัญ (นี่แสดงให้เห็นว่า “สิทธิ์ในการได้รับจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน” เป็นสิ่งที่มีมูลค่า ผู้ถือหุ้นเดิมจึงเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ ถ้าบริษัทเลือกเพิ่มทุนแบบ PO)
นักลงทุนควรจะหัดคำนวณราคาใหม่ในทางทฤษฎีหลังวัน XR ให้เป็น เพื่อจะได้รู้ว่าราคาที่ร่วงลงไปนั้นถูกหรือแพงเกินไป เรื่องนี้บางคนบอกว่างงทุกที จริงๆแล้วเรื่องนี้ไม่น่างง ถ้าหากนักลงทุนยึดหลักการที่ว่า“กลทางการเงินใดๆ ต้องไม่สามารถทำให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นได้” เรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องง่าย หมายความว่า ถ้าบริษัทไหนคิดเล่นตลกด้วยการจัดโครงสร้างของหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุนเข้าใจผิดคิดว่าหุ้นเพิ่มทุนมีราคาถูก ลูกไม้นั้นจะต้องหลอกนักลงทุนไม่ได้ มูลค่าบริษัทหลังเพิ่มทุนจะต้องมีค่าเท่าเดิมอยู่มาดูตัวอย่างกันดีกว่า
สมมติว่าเดิมบริษัทมี 100 ล้านหุ้น ราคาในกระดานหุ้นละ 10 บาท (แสดงว่าบริษัทมีมูลค่าเท่ากับ 1,000 ล้านบาท) ต่อมาบริษัทเพิ่มทุนในอัตรา 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ โดยให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นเดิมซื้อหุ้นใหม่ในราคาหุ้นละ 3 บาท (มัดมือชกกันสุดๆ) เท่ากับว่าออกหุ้นเพิ่มทุน 200 ล้านหุ้น และบริษัทจะได้รับเงินจากการเพิ่มทุนทั้งสิ้น 600 ล้านบาท และหลังเพิ่มทุนแล้วบริษัทจะมีหุ้นทั้งหมด 300 ล้านหุ้น อย่างนี้ ราคาหุ้นหลังขึ้นเครื่องหมาย XR ควรเป็นเท่าไร?
ก่อนเพิ่มทุนบริษัทมีมูลค่า 1,000 ล้านบาท เมื่อบวกกับเงินเพิ่มทุนที่จะใส่เข้ามาในบริษัทอีก 600 ล้านบาท หลังวัน XR บริษัทก็ควรมีค่าเท่ากับ 1,600 ล้านบาท ไม่ควรจะมากไปกว่านี้ (กลใช้ไม่ได้ผล) แต่เนื่องจากหลัง XR บริษัทมีหุ้นเพิ่มเป็น 300 ล้านหุ้น ดังนั้นมูลค่าบริษัทต่อหุ้นก็ควรจะเป็น 1600/300 หรือเท่ากับ 5.33 บาทต่อหุ้นในวันแรกที่ XM นั่นเอง
ถ้าวันนั้นตลาดไม่ได้มีข่าวสำคัญอย่างอื่นเข้ามา หุ้นก็ควรมีราคาเหลือแค่ 5.33 บาทตั้งแต่เปิดตลาด ถ้าสูงกว่านั้นก็ยังแพงเกินไป ถ้านักลงทุนคำนวณล่วงหน้าไม่เป็น เห็นราคาหุ้นเปิดมาเหลือแค่ 7 บาทอาจเข้าใจผิดคิดว่าหุ้นถูก เข้าไปรับ สิบนาทีต่อมาร่วงต่อเหลือแค่ 5.33 บาท น้ำตาจะเช็ดหัวเข่า
บางคนอาจแย้งว่า แล้วไม่ให้มูลค่าการเติบโตเลยหรือ บริษัทเพิ่มทุนเพราะมีโครงการขยายกิจการ มูลค่าของบริษัทหลังเพิ่มทุนจึงน่าจะเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเงินสดที่ใส่เข้ามา คำตอบก็คือ “ไม่” ครับ เพราะโดยมากแล้ว ก่อนที่จะถึงวัน XR บริษัทมักมีการสื่อสารกับนักลงทุนเรื่องแผนการเติบโตมาก่อนแล้ว ราคาหุ้นก่อนวัน XR จึงมักรวมความคาดหวังของนักลงทุนเกี่ยวกับแผนการเติบโตไว้ในราคาเรียบร้อยแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องให้พรีเมี่ยมเพิ่มอีกในวัน XR ครับ
การเพิ่มทุนที่ดีไม่ควรเป็นการเพิ่มทุนที่เซอร์ไพรส์ตลาด บริษัทที่ดีควรมีการสื่อสารกับนักลงทุนเรื่องแผนการเติบโตมาก่อนที่จะประกาศเพิ่มทุน (แม้ว่าจะยังบอกรายละเอียดของหุ้นเพิ่มทุนไม่ได้ก็ตาม) บริษัทที่เพิ่มทุนแบบเซอร์ไพร์ส ผมถือว่าเป็นสัญญาณเชิงลบครับ
ปกติแล้ว บริษัทที่คิดจะเพิ่มทุนจะมีการวางแผนล่วงหน้ามาก่อน คือต้องพยายามขายแผนการเติบโตให้นักลงทุนตื่นเต้นให้ได้ ก่อนที่จะประกาศเพิ่มทุนเพื่อให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปรอล่วงหน้า เมื่อก่อนนี้ ผมมักรู้สึกไม่ดีกับบริษัทที่พยายาม “ตีปี๊บ” อย่างหนักก่อนเพิ่มทุน แต่ตอนหลัง ผมเข้าใจได้ว่า นั่นเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะเป็นการปกป้อง wealth ของผู้ถือหุ้น “เดิม” ที่ถือหุ้นของบริษัทมานานซึ่งรวมถึงรายย่อยเดิมด้วย
เนื่องจากการเพิ่มทุนมักจะทำให้ EPS ลดลงในระยะสั้น ถ้าบริษัทไม่มีการสื่อสารใดๆทั้งสิ้นกับตลาดเลย เมื่อประกาศเพิ่มทุน ราคาหุ้นจะร่วงลง ทำให้คนที่เข้ามาทีหลังสามารถซื้อได้ถูกกว่าเดิมมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมกับรายย่อยที่เป็นแฟนพันธ์แท้ที่เหนียวแน่นของบริษัทมาแต่เดิม
เช่น ถ้าแต่เดิมหุ้นของบริษัทมีราคาอยู่แถวๆ 6 บาทมาตลอด ถ้าไม่สื่อสารแต่เพิ่มทุนเฉยๆเลย หุ้นอาจตกเหลือ 3 บาท ผู้ถือหุ้นเดิมก็เจ็บปวด แต่ถ้าตีปี๊บให้หุ้นขึ้นไปที่ 18 บาทก่อน เมื่อเพิ่มทุนแล้ว หุ้นอาจตกลงมาเหลือแค่ 10 บาท อย่างนี้แม้จะตกลงมา ผู้ถือหุ้นเดิมก็ยังมีกำไรอยู่ เป็นต้น บริษัทควรปกป้อง wealth ของผู้ถือหุ้นเดิมก่อนด้วยการขายหุ้นเพิ่มทุนให้ได้ราคาสูงสุด once ที่ผู้ถือหุ้นใหม่ยอมจ่ายแพงเพื่อเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นแล้ว ในอนาคตจึงค่อย treat พวกเขาเหล่านั้นให้ดีเท่าๆกับผู้ถือหุ้นเดิมคนอื่น จึงจะถือว่าปกป้องผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง
ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า หุ้นที่เพิ่มทุนส่วนใหญ่มักจะวิ่งกันก่อนที่จะเพิ่มทุน และพุ่งสู่จุดสูงสุดในช่วงที่ใกล้จะเพิ่มทุนหรือหลังจากนั้นเล็กน้อย ต่อจากนั้น ราคาหุ้นก็จะมักจะร่วงลง เพราะเมื่อเพิ่มทุนเสร็จแล้วบริษัทก็มักจะเลิกตีปี๊บทำให้หุ้นขาดข่าวกระตุ้น ประกอบกับ EPS ก็กำลังจะลดลงชั่วคราวเพราะตัวหารเพิ่มขึ้นด้วย การซื้อหุ้นในช่วงที่เพิ่มทุนหรือหลังเพิ่มทุนใหม่ๆ จึงมีโอกาสขาดทุนในระยะสั้นได้มาก
ส่วนใหญ่แล้ว คนที่ฟังบริษัทตีปี๊บแล้วรู้สึกตื่นเต้นได้ง่าย มักเป็นคนที่ติดดอยในเกมนี้เสมอ เรื่องนี้โทษใครไม่ได้ ต้องโทษตัวเองที่ “เคลิ้ม” ง่าย
ถ้าอยากเล่นเกมนี้ให้ได้ตังค์ ต้องหันมาเป็นนักลงทุนที่มีความคิดที่เป็นอิสระ กล่าวคือ ตัดสินใจได้เองว่า บริษัทมีอนาคตหรือไม่ โดยไม่เกี่ยวกับว่า ช่วงนั้นจะต้องมีใครมาตีปี๊บให้ฟังบ่อยๆหรือเปล่า
เพิ่มทุน (1-3)
นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
April 2008
แกะรอย บิล มิลเลอร์ :
1 Star2 Stars3 Stars4 Stars5 Stars (4 votes, average: 4.00 out of 5)

http://www.sarut-homesite.net/%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99-1-3-%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%8C-%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%AC%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81/

โป๊กเกอร์กับการลงทุน : PEACEDEV’S BLOG


โป๊กเกอร์กับการลงทุน : PEACEDEV’S BLOG

โป๊กเกอร์กับการลงทุน : PEACEDEV’S BLOG

1 Star2 Stars3 Stars4 Stars5 Stars (3 votes, average: 5.00 out of 5)
เอามาจากบลอกของพี่ peacedev ครับ
####

Texas Holdem poker หรือ เกมไพ่เท็กซัส เป็นเกมไพ่โป๊กเกอร์รูปแบบหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
มีจุดที่น่าสังเกตุอย่างหนึ่งเกี่ยวกับไพ่เท็กซัสก็คือ เกมนี้ รวมถึงโป๊กเกอร์ในรูปแบบต่างๆนั้น เป็นที่นิยมของบรรดาผู้จัดการกองทุนที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศเป็นอย่างมาก
กองทุนเฮดจ์ฟันด์หลายๆแห่ง ใช้เกมโป๊กเกอร์อันนี้ในการฝึกฝนเทรดเดอร์เพื่อให้นำทักษะเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในการลงทุนจริง
เฮดจ์ฟันด์บางแห่ง ใช้ทักษะการเล่นโป๊กเกอร์เป็นคุณสมบัติหนึ่งในการคัดบุคลากรเข้าทำงาน
โดยส่วนตัวผมเองก็คิดว่า เกมโป๊กเกอร์ โดยเฉพาะไพ่เท็กซัสนั้น มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับการลงทุนไม่น้อย เราลองมาไล่กันดูเป็นข้อๆ ถึงลักษณะร่วมของไพ่เท็กซัสและการลงทุนดูครับ
1. ผู้เล่นต้องเข้าใจกฎพื้นฐานของเกม : นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับทุกๆเกม หากผู้เล่นไม่รู้ว่าไพ่ในมือเป็นไพ่ที่ดีก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากมันได้เต็มที่ ในการลงทุนนั้น หากไม่ศึกษาในสิ่งที่เราลงทุนให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน ก็ยากนักที่จะประสบความสำเร็จ
2. เมื่อใดที่คุณนำอารมณ์มาใช้ในเกม เมื่อนั้นคุณก็แพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม : มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มีโอกาสได้เห็นผู้เล่นท่านหนึ่งที่มีฝีไม้ลายมีที่ดีมาก เขาค่อยๆสะสมกำไรทีละนิดๆ จนเป็นกอบเป็นกำขึ้นมา แต่พอเจอกับตาที่แพ้หนักๆเข้าหน่อย รูปแบบการเล่นก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว ผมเห็นเขาเริ่มลงหนักๆในแต่ละตา แล้วก็แพ้เป็นส่วนใหญ่ เบี้ย(Chip)ที่เขาค่อยๆสะสมมาหลายสิบตานั้นหายไปในเพียงไม่กี่ตาสั้นๆ แล้วเขาก็จากโต๊ะไป
ในเกมการลงทุนก็เช่นกัน เมื่อใดที่คุณนำอารมณ์มาใช้ ยิ่งมากเท่าใดความเป็นเหตุเป็นผลก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น มันจะชักนำให้คุณทำเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลได้ตลอดเวลา
3. ทุกคนคิดว่าตัวเองเก่ง : ในวงไพ่นั้น ผู้เล่นมักคิดว่าตัวเองเก่ง หรือ มีดวงกันทุกคน เกมโป๊กเกอร์เป็น Zero sum game คือผู้เล่นแต่ละคนต่างพยายามจะกินเงินของคนอื่น ไม่มีใครคิดจะเอาเงินมาแจกคนอื่นฟรีๆแน่ๆ ดังนั้น ผู้ที่เข้ามาเล่นส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่มั่นใจในฝีมือกันทั้งนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนจะเก่งเท่า ๆกันไม่ได้ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วในระยะยาว ต้องไม่มีใครได้กำไรจากเกมนี้ไป เพราะเข้ามาเล่นด้วยโอกาสที่เท่าเทียมกัน
แต่ในความเป็นจริงเรามักจะเห็นผู้เล่นบางคนที่มักเสียเงินมากกว่าได้เงิน และ มีบางคนที่มักจะได้เงินมากกว่าเสียเงิน ทั้งยังรวยเอาๆเรื่อยๆ เรื่องนี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เศรษฐีนักลงทุนเคยกล่าวไว้ว่า ในวงไพ่หากเล่นไปสักพักแล้วคุณยังไม่รู้ว่าใครคือหมู คุณนั่นแหละที่เป็นหมู ให้หยุดเล่นเสีย
ในเกมการเงินการลงทุนก็เช่นกัน แม้ว่าการลงทุนจะมีลักษณะที่เป็น Positive sum อยู่ก็ตาม แต่ในกรณีส่วนมากมักจะกลายเป็น Zero sum game ให้เห็นอยู่บ่อยๆ ผู้ที่เข้ามาลงทุนทุกคนเชื่อมั่นในตัวเองกันทั้งนั้น คงไม่มีใครที่คิดว่าจะให้คนอื่นมากินเงินลงทุนของตนไปฟรีๆ ต่างก็หวังกำไรจากการลงทุนกันทั้งสิ้น
หากคุณพบว่าลงทุนไปสักระยะแล้ว ตนเองยังขาดทุนมากกว่ากำไร หรือ มักแพ้ตลาดอยู่เสมอๆ ก็ควรที่จะออกมาสักพัก แล้วคิดทบทวนเพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของตนเองเสียใหม่
4. การบริหารหน้าตัก : จัดเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดในการเล่นโป๊กเกอร์ เพราะถ้าคุณทุ่มจนหมดตัว (ALL In) แล้วแพ้หรือเสียหายหนัก คุณจะไม่มีทุนรอนไว้สำหรับแก้มือในตาต่อๆไป
ในทางตรงข้าม หากคุณมีโอกาสที่ดีกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ แต่คุณเลือก bet น้อยเกินไป ก็ทำให้เสียโอกาสในการทำกำไร
ผมเคยเห็นผู้เล่นหลายคนที่เคยมีเบี้ยกันเป็นหลักล้าน แต่พวกเขารักษาไว้ไม่ได้ ต้องหมดตัวกันอยู่หลายคน และหนทางที่จะสะสมเบี้ยใหม่จากหลักพันหรือหลักหมื่นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย กับการลงทุนก็เช่นเดียวกัน
5. การจัดการความเสี่ยง : ข้อนี้ใกล้เคียงและเกี่ยวข้องกับการบริหารหน้าตัก ผู้เล่นโป๊กเกอร์ที่ดีควรรู้ว่าเมื่อใดควรสู้ และ เมื่อใดที่ควรถอย ผู้เล่นบางคนมีนิสัยที่ชอบเกทับ(ที่มากเกินพอดี) บางคนก็ชอบเสี่ยงเกินจริง บางคนทนรอจนถึงตาที่ตนเองได้ไพ่ที่ดีไม่ได้ เลยทำการเล่นที่สุ่มเสี่ยงมากเกินไป จนทำให้เสียเงินมากมายไปกับการเสี่ยงที่ไม่จำเป็น
ผู้เล่นบางคนกล้าได้กล้าเสียใช้วิธีเล่นที่เสี่ยงมาก เดิมพันหนักๆ ได้กำไรทีละมากๆ กลายเป็นดาวจรัสภายในระยะเวลาอันสั้น แต่คงไม่มีประโยชน์อะไรหากพวกเขาต้องเสียมันไปในเวลาไม่นาน
เช่นเดียวกับการลงทุน นักลงทุนที่ดีควรประเมินความเสี่ยงอย่างเป็นกลางและเลือกลงทุนตามความเหมาะสม
6. ไพ่ที่ดีที่สุดในมือ ไม่ได้แปลว่าชนะ : เช่นเดียวกัน ไพ่แย่ๆในมือก็ไม่ได้แปลว่าแพ้ ในเกมไพ่เท็กซัส ผู้เล่นจะได้รับไพ่ 2 ใบมาไว้ในมือ เพื่อนำมารวมกับไพ่กองกลางอีก 5 ใบซึ่งจะค่อยๆเปิดทีหลัง
หลายคนพอได้ไพ่สูง หรือ ไพ่คู่ก็จัดการเกหมดหน้าตักเลย อย่างไรก็ดีแม้ว่าคุณจะมี Ace(A) ในมือทั้งสองใบ มันเป็นความจริงที่คุณได้เปรียบผู้เล่นคนอื่นๆ แต่ถ้าหากประมาท ความได้เปรียบนั้นอาจสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงได้ เพราะแม้แต่ คู่ Ace ยังแพ้ 2 คู่ ของไพ่ต่ำ หรือไพ่ตองเลขต่ำๆได้ ซึ่งการเล่นไพ่กับผู้เล่นหลายๆคนนั้น โอกาสที่คนอื่นจะมีไพ่ที่ดีกว่าไพ่คู่นั้นมีอยู่ไม่น้อย
ในการลงทุนนั้น ถึงแม้ปัจจัยทุกอย่างนั้นจะดูดีมากมายเพียงใด แต่การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง อาจมีปัจจัยอื่นๆที่เราคาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้เสมอ
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด อย่าโทษซวย โทษตัวเอง : ทั้งเกมโป๊กเกอร์ และ เกมการเงินการลงทุน เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความไม่แน่นอน คำว่า “ดวง” อาจเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องบ้างแต่ไม่ทั้งหมด สิ่งที่สำคัญกว่านั้นขึ้นอยู่กับการจัดการบริหารมากกว่า
หากคุณพบว่าเกิดความล้มเหลวหรือผิดพลาดขึ้นมา ให้สงสัยในการจัดการบริหารของตัวเองเอาไว้ก่อน
เกมโป๊กเกอร์ โดยเฉพาะ Texas hold’em เป็นเกมที่อาศัยทักษะในหลายๆด้าน อาทิเช่น ทั้งคณิตศาสตร์, ตรรกศาสตร์, จิตวิทยา, การประเมินสถานการณ์ ,การบริหารเงิน ฯลฯ ซึ่งทักษะสำคัญเหล่านี้ คล้ายคลึงกับทักษะที่จำเป็นในการลงทุน อย่างไรก็ดี ผมคิดว่า การทำคะแนนจากเกมไพ่โป๊กเกอร์นั้นยังยากกว่าการทำคะแนนจากการลงทุนมาก เพราะโป๊กเกอร์เป็น Zero Sum Game ที่ผู้เล่นทุกคนต้องเข้าช่วงชิงเงินของผู้เล่นคนอื่นๆ
เมื่อคุณเข้าเล่นในเกมที่ใช้เบี้ยน้อยๆ เกมจะยังมีความง่ายอยู่เพราะผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นมือใหม่ และถ้าหากเบี้ยในมือของคุณเยอะขึ้นจนต้องขยับขึ้นไปเล่นในโต๊ะที่ต้องใช้เงินเดิมพันเยอะขึ้น เกมจะทวีความยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะคุณจะต้องเจอกับผู้เล่นที่เก่งและเชี่ยวในประสบการณ์ยิ่งขึ้น และ แน่นอนไม่มีใครคิดจะเอาเบี้ยมาแจกกันฟรี ทุกคนมีเป้าหมายในการแย่งชิงเบี้ยในมือคนอื่นทั้่งสิ้น
แต่สำหรับการลงทุนนั้น ในระยะยาวยังมีสภาพที่เป็น Positive Sum กล่าวคือ สามารถสร้างผลประโยชน์ร่วมกันให้กับผู้เล่นทุกฝ่ายได้
ปล. เกมที่ผมเข้าไปฝึกฝนทักษะจากไพ่เท็กซัสนั้นเป็นเพียงเกมออนไลน์ธรรมดาๆเท่านั้นเองครับ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับเงินจริงๆ
ข้อมูลเพิ่มเติม:
http://www.marketfolly.com/2009/11/hedge-fund-managers-poker-texas-holdem.html
http://money.cnn.com/2006/08/11/news/newsmakers/hedgefund_poker/index.htm
http://www.businessinsider.com/hedge-fund-manager-gold-daniel-shak
http://www.andr3w321.com/career-advice-from-a-hedge-fund-manager/
โป๊กเกอร์กับการลงทุน
April 27, 2011 by peacedev
http://peacedev.wordpress.com

http://www.sarut-homesite.net/%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B9%8A%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99-peacedevs-blog/

งบการเงินสำหรับนักลงทุน (1-5) : นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์


งบการเงินสำหรับนักลงทุน (1-5) : นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

1 Star2 Stars3 Stars4 Stars5 Stars (3 votes, average: 5.00 out of 5)
ผมรวมมา 5 ตอน เลยนะครับ  ขอบคุณพี่โจ๊ก – นรินทร์  โอฬารกิจอนันต์ ที่เขียนวิธีอ่านงบให้เข้าใจง่ายขึ้นครับ สุดยอดจริงๆ
####

ที่ผ่านมามีหลายท่านอยากให้ผมเขียนหนังสือเกี่ยวกับการวิเคราะห์งบการเงินบ้าง เพราะหาหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่อ่านง่ายๆไม่ได้เลย แต่ผมเองนั้นมิใช่นักบัญชี ความรู้บัญชีที่มีอยู่ก็เป็นเพียงแค่ความรู้ที่สะสมมาเพื่อใช้เอาตัวรอดในตลาดหุ้นเท่านั้น หลายปีผ่านไป ก็ยังมีคนถามเรื่องนี้อยู่ ไม่ทราบจะทำอย่างไรเหมือนกัน เอาเป็นว่าผมจะใช้บล็อกเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้สักพักก็แล้วกัน เป็นแค่การเล่าให้ฟังว่าตัวผมเองดูอะไรในงบการเงินบ้างเวลาลงทุน
.
เรื่องงบการเงินนั้น ผมยอมรับว่า ผมเองไม่ได้ให้น้ำหนักมากนัก เพราะผมตัดสินใจลงทุนจากเหตุผลเชิงคุณภาพเป็นหลัก (ธุรกิจมีอนาคตที่สดใส บริษัทมีกลยุทธ์การเติบโตที่ดี บริษัทมีข้อได้เปรียบที่ชัดเจน ฯลฯ)  ผมจะใช้งบการเงินเป็นแค่การตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้แน่ใจว่า ตัวเลขต่างๆสอดคล้องกับสิ่งที่เราคิดหรือไม่ และใช้ดูว่าบริษัทยังมีอะไรอย่างอื่นที่เราต้องกังวลอีกหรือเปล่า ผมถือว่า ผมเน้นลงทุนแต่ในบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่งแล้วเท่านั้น และอาศัยการกระจายการลงทุน แทนการวิเคราะห์งบการเงินแบบเจาะลึก นักลงทุนบางคนอาจใช้งบการเงินเป็นเครื่องมือหลักในการเลือกหุ้น เช่น คนที่ลงทุนในแนว Asset Play แต่ผมก็ไม่เคยลงทุนในแนวนั้นเลย ผมคิดว่าผมคงไม่ได้รู้บัญชีลึกซึ้งมากขนาดที่จะขุดพบสิ่งที่ซ่อนอยู่ในงบการเงินที่คนทั่วไปมองไม่เห็นออกมาได้ งบการเงินเป็นสิ่งที่บอกอดีตและปัจจุบันของบริษัทได้ดี แต่บอกอนาคตได้น้อย ผมจึงให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์เชิงคุณภาพมากกว่า
.
สาระสำคัญของงบการเงินของบริษัทมหาชนนั้นอยู่ในงบสามตัวใหญ่ ได้แก่ งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด ส่วนหมายเหตุประกอบงบการเงิน และงบแสดงส่วนเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้นนั้น เป็นส่วนของรายละเอียดเพิ่มเติม ถ้าจะให้ดีเวลาอ่านงบการเงินควรพลิกไปอ่านความเห็นของผู้สอบบัญชีด้วยสักนิด งบการเงินที่ดีควรเป็นงบที่ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข ถ้าหากผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็น หรือแสดงความเห็นอย่างมีเงิ่อนไข มักทำให้ผมไม่ค่อยอยากอ่านงบการเงินของบริษัทนั้นต่อแล้ว เพราะไม่รู้ว่า สิ่งที่แสดงอยู่ในงบการเงินนั้นจะเชื่อถือได้มากแค่ไหน และพาลให้อยากเลิกคิดลงทุนในบริษัทนั้นไปด้วยเลย เพราะไม่รู้ว่าเราจะเสี่ยงลงทุนกับบริษัทที่ไม่สามารถแสดงงบการเงินในแบบที่เรียบร้อยตามหลักบัญชีให้นักลงทุนดูได้ไปทำไม ในเมื่อเรายังมีตัวเลือกอื่นดีๆอีกมากมายในตลาด
.
และเช่นเดียวกัน การเป็นนักลงทุนนั้น ที่จริงแล้วไม่จำเป็นต้องเก่งบัญชีมากๆ แต่ควรเข้าใจภาพใหญ่ๆของการดูงบการเงิน เวลาที่เจองบการเงินของบริษัทที่ซ้บซ้อนมากๆ มีรายการพิเศษเยอะๆ แทนที่เราจะต้องพยายามแกะให้ได้ เราสามารถเปลี่ยนไปลงทุนในบริษัทอื่นที่มีงบการเงินที่เข้าใจได้ง่ายกว่าแทนก็ได้ มีให้เลือกอีกเยอะแยะในตลาด วอเรน บัฟเฟต กล่าวว่า บริษัทที่เขียนงบการเงินให้คนอ่านเข้าใจยากๆ เหมือนไม่อยากให้คนเข้าใจนั้น แสดงว่าอาจมีอะไรบางอย่างที่ไม่ดีที่เขาจะต้องแอบซ่อนเอาไว้ ถ้าธุรกิจดีจริงๆ เขามักจะอยากโชว์
.
แนวคิดอย่างแรกที่อยากให้นักลงทุนมองเวลาที่เริ่มต้นอ่านงบการเงินคือ งบดุลเป็นบัญชีที่แสดง “ฐานะการเงินของบริษัท” ณ วันสิ้นงวด พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ สมมติว่าหยุดกิจกรรมทุกอย่างไว้ชั่วคราว ณ วันสิ้นงวด แล้วลองนับดูว่าบริษัทมีสมบัติอะไรติดตัวบ้าง มีหนี้เท่าไร (เอาสินทรัพย์หักหนี้สินจะเหลือเป็นส่วนที่เป็นของบริษัทจริงๆ) ส่วนงบกำไรขาดทุนนั้นคือบัญชีที่แสดง ผลงานของบริษัท “ตลอด” งวดบัญชีนั้น กล่าวคือ ตลอดช่วงเวลาของรอบบัญชีนั้น บริษัททำรายได้ไปได้เท่าไร หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือกำไรเท่าไร (รายได้หักค่าใช้จ่ายเท่ากับกำไร) งบดุลจึงเป็นเหมือนภาพนิ่งเมื่อวันจบงวด ส่วนงบกำไรขาดทุนนั้นเป็นผลงานรวมตลอดระยะเวลาทั้งหมดเฉพาะในรอบบัญชีนั้น
.
ส่วนงบกระแสเงินสดนั้น เป็นบัญชีที่แสดงการไหลเข้าออกของเงินสดระหว่างรอบบัญชีนั้น นักบัญชีบังคับให้บริษัทมหาชนต้องแสดงการไหลเข้าออกของเงินสดด้วยเพื่อ “กันเหนียว” กล่าวคือ เวลาคิดกำไรขาดทุนตามหลักบัญชีนั้นอาจมีช่องว่างบางอย่างที่ทำให้บริษัทฉายภาพว่าธุรกิจไปได้ดี ทั้งที่จริงๆแล้วมีปัญหา การบังคับให้ต้องแสดงงบกระแสเงินสดด้วยนั้น จะช่วยทำให้บริษัทหาช่องว่างได้ยากขึ้น บางคนบอกว่างบกระแสเงินสดสำคัญ งบกำไรขาดทุนไม่สำคัญ บางคนบอกว่างบกำไรขาดทุนสำคัญ งบกระแสเงินสดไม่สำคัญ แต่ที่จริงแล้ว เวลาดูงบการเงินควรดูทั้งสามงบประกอบกันว่าสอดคล้องกันหรือไม่ถึงจะชัวร์ สรุปก็คือสำคัญทั้งสามงบ
.
นอกจากนี้ ในแต่ละงบยังแยกออกเป็นสองชุดคือ งบการเงินเฉพาะบริษัท และงบการเงินรวม ด้วย เพราะบริษัทหนึ่งๆ อาจประกอบด้วยบริษัทร่วมและบริษัทย่อยหลายบริษัท เช่น พวกโฮลดิ้งคอมปะนี งบการเงินรวมคืองบที่รวมงบการเงินของบริษัทร่วมและบริษัทย่อยเข้าด้วยกันให้เหมือนเป็นบริษัทเดียวกัน จะได้เห็นสถานะการเงินทั้งหมดของบริษัท มีคำถามเสมอว่า เราควรดูงบการเงินเฉพาะของบริษัทหรืองบการเงินรวมดี บ่อยครั้งที่บริษัทมหาชนต้องการให้แต่ละหน่วยธุรกิจบริหารจัดการตัวอย่างแบบเป็นเอกเทศ จึงทำให้ต้องมีโครงสร้างเป็นบริษัทร่วมและบริษัทย่อย แต่ในมุมของผู้ถือหุ้นแล้ว ไม่ว่าจะซอยยังไงก็เป็นสมบัติของผู้ถือหุ้นเหมือนกัน การที่ต้องจัดทำงบการเงินรวมก็เป็นวิธีการทางบัญชีที่จะช่วยทำให้กลุ่มธุรกิจดูเหมือนเป็นก้อนเดียวกัน โดยปกติแล้ว ผมจึงดูแต่งบการเงินรวมเป็นหลัก มีบางกรณีเหมือนกันที่เราควรจะดูงบการเงินเฉพาะของบริษัทมากกว่างบการเงินรวม แต่เป็นกรณีที่น้อยมากครับ ไม่อยากขยายความให้ชวนปวดหัว
.
เอาแค่นี้ก่อนนะครับสำหรับการ overview เอาไว้ตอนหน้าจะมาลงรายละเอียดทีละงบว่า เราควรดูอะไรในงบเหล่านั้นบ้าง
.
Friday, 29 October 2010
.
งบการเงินสำหรับนักลงทุน (1/5) : overview
.
นรินทร์  โอฬารกิจอนันต์
####
.
งบการเงินสำหรับนักลงทุน (2/5) : งบกำไรขาดทุน
.
Friday, 5 November 2010
.
ในฐานะ growth investor ถ้าผมเปิดงบกำไรขาดทุนขึ้นมาดู สิ่งแรกที่ผมมักจะดูก่อนเสมอคือการเติบโตของรายได้ครับ บริษัทที่ปกติดีควรมีรายได้เพิ่มขึ้นเสมอเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนจะเพิ่มมากหรือน้อยก็แล้วแต่ แต่ไม่ควรจะลดลงอย่างยิ่ง ที่ต้องเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แทนที่จะเทียบกับงวดที่แล้ว ก็เพราะธุรกิจมักมีเรื่องของฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงควรเทียบผลงานในช่วงเดียวกันของทุกปี และผมมักจะสนใจเฉพาะการเติบโตของรายได้ที่มาจากธุรกิจหลัก ไม่ใช่รายได้รวม เพราะรายได้อื่นๆ เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและมักไม่ใช่แก่นของธุรกิจของบริษัท จึงไม่ควรนำมาเกี่ยวข้องเวลาประเมินสภาวะของกิจการ
.
ที่จริงผมให้ความสำคัญกับการเติบโตของรายได้หลักมากกว่ากำไรเสียอีก เพราะการทำธุรกิจนั้นกำไรย่อมต้องมีความผันผวนบ้างเป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจที่ต้องมีความไม่แน่นอน บริษัทที่กำไรเพิ่มขึ้นได้อย่างสม่ำเสมอเป็นเส้นตรง คงมีแต่บริษัทที่แต่งบัญชีเองเท่านั้น ดังนั้น ถ้ากำไรของบริษัทลดลงบ้างในบางช่วง ผมไม่ถือว่าคอขาดบาดตาย และไม่มีความจำเป็นต้องรีบขายหุ้นหนี ซึ่งจะต่างกับคนที่เล่นหุ้นระยะสั้นด้วยวิธีการเก็ง EPS เป็นรายไตรมาส กลุ่มนี้ถ้าเขารู้ว่า EPS ไตรมาสหน้ากำลังจะลดลง ปกติเขาจะรีบหนีทันที แต่สำหรับผม ถ้ารายได้ยังเติบโตได้อยู่ สุดท้ายแล้วกำไรก็จะกลับมาสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้อีก
.
แต่ถ้าหากรายได้ลดลงนั้น น่าเป็นห่วงมากกว่า เพราะปกติแล้วถ้าธุรกิจแย่ลงชั่วคราว บริษัทมักเลือกที่จะรักษารายได้เอาไว้ แล้วยอมลดกำไรลง มากกว่าที่จะปล่อยให้รายได้ลดลง เพราะถ้าโวลู่มขายลดลง ต้นทุนต่อหน่วยมักจะเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทแข่งขันไม่ได้ด้วย รักษาโวลุ่มไว้ก่อนดีกว่า ดังนั้น ถ้าหากรายได้ถึงขั้นลดลง แสดงว่าปัญหาของบริษัทน่าจะไม่ธรรมดา ธุรกิจอาจจะกำลังหมดยุค หรือบริษัทกำลังเสียความสามารถในการแข่งขันไปอย่างถาวร
.
เว้นแต่พวกที่ขายสินค้าคอมโมฯ ที่ราคาตลาดผันผวนสูงๆ เช่น ถ่านหิน โรงกลั่น ฯลฯ พวกนี้บางทีราคาตลาดผันผวนแรงมากๆ ก็อาจทำให้รายได้ลดลงได้โดยที่ปริมาณการขายไม่ได้ลด ดังนั้น ถ้าหากบริษัทเหล่านี้มีรายได้ลดลง ควรรีบตรวจสอบดูว่า ปริมาณการขายลดลงด้วยหรือไม่
.
ถัดจากการเติบโตของรายได้ ผมจะตรวจสอบดูว่า Gross Margin ของบริษัทเปลี่ยนไปอย่างไร Gross Margin ก็คือ (รายได้-ต้นทุนขาย) หารด้วย รายได้ หรืออาจจะตรวจดูว่าต้นทุนขายเพิ่มขึ้นมากกว่าหรือน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นก็ได้ (ความหมายจะเหมือนกัน) ถ้า Gross Margin ไม่ต่ำลง แสดงว่า ไม่มีอะไรผิดปกติ ถ้าหากต่ำลง แสดงว่า ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น หรือมิฉะนั้น อาจเกิดจากบริษัทยอม dump ราคาลงมา เพื่อดึงยอดขายเอาไว้ ก็ได้
.
นอกจากนี้ ถ้าอยู่ดีๆ Gross Margin ของบริษัทเพิ่มขึ้น อาจเป็นสัญญาณที่แสดงว่าพื้นฐานของบริษัทกำลังจะดีขึ้นได้ด้วย เช่น ตลาดอยู่ในช่วงเติบโตสูง หรือสินค้าใหม่ของบริษัทอาจสร้างความแตกต่างได้มากกว่าเดิมทำให้บริษัทมี market power มากขึ้น สามารถ command pricing ได้มากกว่าเดิม มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ครับว่า หุ้นที่กำลังจะทะยาน Gross Margin มักกระตุ้นขึ้นให้เห็นก่อน
.
ถัดจาก Gross Margin ผมจะดู Operating Margin ซึ่งได้แก่ EBIT หารด้วย รายได้ ครับ ถ้า Operating Margin ดีขึ้น แสดงว่าบริษัทอาจบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออาจเป็นรายได้สูงขึ้น ทำให้ค่าโสหุ้ยต่อหน่วยลดลง ซึ่งเป็นเรื่องดีทั้งนั้น
.
สังเกตว่าผมจะสนใจ Operating Margin มากกว่า Net Profit Margin เพราะ Net Income นั้นนับรวมภาษีและดอกเบี้ยด้วย ทั้งสองรายการนี้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางการเงินของบริษัทและการบริหารภาษี ฉะนั้นจึงไม่ค่อยเกี่ยวกับพื้นฐานของธุรกิจที่เปลี่ยนไปเท่าไร ทำให้เมื่อนำมารวมแล้ว อาจให้ภาพที่บิดเบื่อนเกี่ยวกับพื้นฐานของบริษัทได้ครับ วัดกันแฟร์ๆ เฉพาะรายการที่เกี่ยวกับ operation ไปเลยแมนกว่าครับ
.
อีกเรื่องที่ต้องระวังคือ เราไม่สามารถสรุปได้ว่าธุรกิจไหนดีด้วยการดูว่า Margin สูงหรือต่ำ เพราะขึ้นอยู่กับ economic ของแต่ละธุรกิจด้วย อย่างธุรกิจค้าปลีกนั้นมี Net Margin แค่ 3% เท่านั้น แต่อาจเป็นธุรกิจที่ดีกว่าธุรกิจผลิตเครื่องสำอางค์ที่มี Net Margin 10% เพราะว่า Turnover มันสูงกว่ากันมาก ในการเปรียบเทียบ Margin ข้ามบริษัทนั้น เราเปรียบเทียบได้แค่กับบริษัทอื่นที่ทำธุรกิจที่เหมือนกันเปี๊ยบ หาก Margin สูงกว่าก็แสดงว่า บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันมากกว่าคู่แข่ง แต่ปกติแล้ว แม้แต่ธุรกิจแบบเดียวกัน ก็ยังไม่เหมือนกันเปี๊ยบเลย อย่างเช่น บริษัทบ้านบางบริษัทเน้นทำบ้านหรู บางบริษัทเน้นทำบ้านตลาดล่าง การที่บริษัทเน้นทำบ้านหรูมี Margin สูงกว่าอาจไม่ได้แปลว่าดีกว่าเสมอไป เพราะเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่บ้านหรูควรจะมีมาร์จิ้นสูงกว่าบ้านตลาดล่าง การเปรียบเทียบ Margin ข้ามบริษัทจึงเป็นสิ่งที่ควรระวัง แค่เปรียบเทียบกับตัวเองในอดีตน่าจะดีกว่า
.
####
.
งบการเงินสำหรับนักลงทุน (3/5) : งบดุล
.
Wednesday, 10 November 2010
.
งบดุลคือบัญชีแสดง “ฐานะทางการเงิน” ของบริษัท กล่าวคือ สมมติว่าหยุดกิจกรรมทั้งหมดเอาไว้ชั่วคราว ณ วันปิดบัญชี บริษัทเป็นเจ้าของสินทรัพย์อะไรบ้าง มีหนี้สินอยู่เท่าไร ส่วนต่างระหว่างสินทรัพย์กับหนี้สินทั้งหมดของบริษัทนั้นเรียกว่า ส่วนของเจ้าของ ซึ่งหมายถึงส่วนของสินทรัพย์ที่ผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของจริงๆ ถ้าหากหักหนี้ออกหมดแล้ว ตามสมการ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ
.
ในการตรวจสอบงบดุลตามปกติ ผมมักจะเริ่มต้นด้วยการตรวจดูลูกหนี้การค้าก่อน ลูกหนี้การค้าควรเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนในสัดส่วนที่น้อยกว่าหรือเท่ากับรายได้ที่โตขึ้น เพราะถ้าเพิ่มขึ้นมากกว่า อาจเป็นสัญญาณที่แสดงว่า บริษัทเร่งยอดขายด้วยการปล่อยเครดิตให้แก่ลูกค้ามากขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าอยากซื้อ ซึ่งเป็นการเร่งยอดขายในระยะสั้น ที่อาจนำมาซึ่งปัญหาหนี้เสียในระยะยาวได้ ถ้าหากเห็นว่าไม่ปกติให้เปิดไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหมายเหตุประกอบงบการเงินเพื่อดูว่าจำนวนลูกหนี้การค้าแบ่งแยกตามระยะเวลาค้างจ่ายทอดยาวออกไปมากขึ้นหรือไม่ มีลูกหนี้การค้าที่สงสัยว่าจะเก็บเงินไม่ได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ามี บริษัทได้มี่การตั้งสำรองไว้แล้วเพียงพอหรือไม่ ลูกหนี้การค้าเป็นรายการที่สำคัญมากในธุรกิจประเภทซื้อมาขายไป บ่อยครั้งที่บริษัทเหล่านี้ทำยอดขายให้ดูดีด้วยการผ่อนคลายเรื่องเครดิต แต่สุดท้ายแล้วรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นตามเก็บเงินไม่ได้ กลายเป็นหนี้เสีย
.
ถัดจากลูกหนี้การค้าก็คือ สินค้าคงคลัง ที่ควรเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีที่แล้วในสัดส่วนที่น้อยกว่าหรือเท่ากับต้นทุนขาย (การค้าใหญ่ขึ้นก็ต้องสต๊อกสินค้ามากขึ้นได้แต่ควรจะไม่มากกว่า)
.
การทำบัญชีสินค้าคงคลังนั้น หลักบัญชียอมให้บริษัทเลือกวิธีลงบัญชีได้หลายแบบ (LIFO, LIFO, average cost) เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริงได้มากที่สุด แต่ในทางตรงกันข้ามก็เป็นช่องโหว่ที่บริษัทอาจใช้เพื่อบริหารงบให้ดูดีได้ด้วย ถ้าหากเป็นธุรกิจที่ขายสินค้าที่ราคาเปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น สินค้าไอที หรือราคาเปลี่ยนแปลงช้า แต่สินค้ามักสต็อกไว้นานกว่าจะขายออกไปจนทำให้ราคาทุนต่างกับราคาปัจจุบันมากๆ อย่างเช่น ที่ดิน วิธีตัดสินค้าคงคลังเวลาเกิดยอดขายที่แตกต่างกันนั้นจะทำให้ต้นทุนขายแตกต่างกันได้อย่างมาก ยิ่งถ้ามีการปรับเปลี่ยนวิธีระหว่างงวด หรือมี LIFO Liquation ตัวเลขต้นทุนขายในงวดนั้นอาจสื่ออะไรไม่ได้เลย ตัวเลขกำไรของธุรกิจที่ขายสินค้าที่มีราคาต้นทุนเปลี่ยนแปลงได้บ่อยจึงใช้วัดอะไรได้น้อยเหมื่อนกัน การเปรียบเทียบผลงานระหว่างคู่แข่งยิ่งต้องระวังเข้าไปใหญ่ เพราะไม่รู้ว่าวิธีการตัดจ่ายสินค้าคงคลังของสองบริษัทต่างกันมากแค่ไหน
.
สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนของบริษัทที่สำคัญได้แก่ เครื่องจักร อาคารและที่ดิน สินทรัพย์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะลงบัญชีที่ราคาทุนและตัดจ่ายค่าเสื่อมไปเรื่อยๆ ระยะเวลา (ถ้ามี) ซึ่งอาจไม่ได้สื่อความหมายอะไรมากนัก เพราะมูลค่าตลาดที่แท้จริงของสินทรัพย์เหล่านี้มักต่างกับมูลค่าทางบัญชีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นสินทรัพย์ที่ซื้อมานานแล้ว โดยมากแล้วผมไม่ได้สนใจรายการเหล่านี้มากนักครับ
.
ลองตรวจดูว่าบริษัทมีสินทรัพย์อื่นๆอะไรบ้าง กิจการที่ดีไม่ควรจะมีสินทรัพย์อื่นๆมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากไม่ได้แจงไว้ด้วยว่าสินทรัพย์เหล่านั้นคืออะไร เพราะสินทรัพย์อื่นๆ คือบรรทัดที่บริษัทสามารถซุก non-productive assets ทั้งหลายเอาไว้ รวมทั้งพวกรายการสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เช่น เงินกู้กรรมการบริษัท/ผู้ถือหุ้นใหญ่บางคน รายการทำนองนี้ไม่ควรจะมีเลยเพราะอาจบ่งชี้ถึงความไม่โปร่งใส ธรรมภิบาลที่ไม่ดี และการมี conflict of interest ของบริษัทมหาชน อย่างไรก็ตาม ถ้าหากรายการเหล่านี้มีมูลค่าน้อยกว่า 5% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ก็พอจะยอมรับได้ แต่ถ้ามากกว่านั้นก็อาจเป็นเรื่องที่เราต้องกังวล
.
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญเวลาดูงบดุลก็คือ การตรวจสอบความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท เวลามองเรื่องหนี้นั้นเรามักสนใจแค่ว่าบริษัทมีหนี้มากหนี้น้อยเมื่อเทียบกับทุน แต่ที่จริงแล้วเรื่องที่สำคัญกว่านั้นมากคือ เรื่องสภาพคล่อง บริษัทจะมีหนี้มากหรือน้อยแต่ถ้าขาดสภาพคล่องที่จะจ่ายหนี้ในระยะอันใกล้ก็น่ากลัวเท่ากัน ลองดูว่าบริษัทมีเงินสดมากเท่าไรเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่จ่ายอยู่ในแต่ละปีรวมทั้งเงินต้นส่วนที่มีกำหนดจะต้องชำระคืนภายในไม่เกินหนึ่งปีข้างหน้า ซึ่งบริษัทจะต้องแยกไว้ให้เห็นในงบดุล ถ้าหากบริษั่ทมีเงินสดน้อยเมื่อเทียบกับภาระหนี้ในระยะสั้น บริษัทอาจหวังใช้ลูกหนี้การค้าที่กำลังจะถูกเปลี่ยนเป็นเงินในอนาคตในการชำระหนี้ก็ได้ (หมุนเงินเอา) ลองเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างภาระหนี้ในระยะสั้นกับสินทรัพย์หมุนเวียนเหล่านี้ดูก็แล้วกัน เรื่องพวกนี้เอาไว้ผมจะพูดถึงอีกทีตอนที่พูดถึงเรื่อง ratio analysis ก็แล้วกันครับ
.
สุดท้ายควรเช็คดูในหมายเหตุประกอบงบการเงินว่า บริษัทมีหนี้สินที่อยู่นอกงบดุลอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ที่สำคัญได้แก่ ความเสี่ยงที่จะโดนฟ้องร้องในอนาคต สัญญาที่มีภาระผูกผันทางการเงินต่างๆ และพวก lease obligation ทั้งหลาย สิ่งเหล่านี้ที่จริงแล้วถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สินของบริษัทด้วย แต่ไม่ได้รวมไว้ในงบดุลตามหลักบัญชี ซึ่งเราก็ไม่ควรจะมองข้าม อีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบตรวจดูในหมายเหตุประกอบงบการเงินด้วยคือ บริษัทยังมีวงเงินเหลืออยู่กับสถาบันการเงินอีกเท่าไรที่ยังไม่ได้กู้จริง ตรงนี้ถือว่าเป็น buffer ที่สำคัญอย่างหนึ่งของธุรกิจ บริษัทที่ทำธุรกิจด้วยกู้จนเต็มวงเงินตลอดเวลาย่อมแสดงถือวัฒนธรรมการบริหารงานที่ค่อนข้าง aggressive เกินไป เวลาเกิด market shock มักกระทบรุนแรง อีกทั้งเวลาเจอโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจก็อาจไม่สามารถ take opportunity ได้ทันท่วงที เพราะไม่มีสภาพคล่องส่วนเกินที่จะนำมาใช้ลงทุนได้ทันทีครับ.
.
####
.
งบการเงินสำหรับนักลงทุน (4/5) : งบกระแสเงินสด
.
Tuesday, 16 November 2010
.
งบกระแสเงินสดเป็นบัญชีที่แสดงการไหลเข้าออกของเงินสดที่เกิดขึ้นสะสมในกิจการระหว่างรอบบัญชีนั้น ในทางบัญชีเราแบ่งกระแสเงินสดออกเป็นสามจำพวกคือ กระแสเงินสดที่เกี่ยวกับการดำเนินงาน กระแสเงินสดที่เกี่ยวกับการลงทุน และกระแสเงินสดด้านการเงิน โดยที่เมื่อนำกระแสเงินสดทั้งสามจำพวกมารวมกัน จะต้องเท่ากับเงินสดที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบบัญชีนั้นพอดี เพราะกระแสเงินสดมีแค่สามอย่าง ถ้านำมาบวกกันก็ต้องเท่ากับเงินสดที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในบริษัทระหว่างงวดนั้นนั่นเอง
.
ในงบกระแสเงินสด จะแสดงกระแสเงินสดทั้งสามประเภทให้ดูทีละประเภท ถ้าลองนำกระแสเงินสดทั้งสามประเภทมาบวกกันจะพบว่าต้องเท่ากับผลต่างระหว่างเงินสดตอนปลายงวดกับต้นงวดที่โชว์อยู่ในงบดุลของบริษัทนั้นพอดีด้วย
.
ในหมวดกระแสเงินสดเกี่ยวกับการดำเนินงานนั้น จะดูแล้วงงๆนิดหน่อย เพราะปกติแล้วการทำบัญชีเพื่อโชว์กระแสเงินสดรับหรือจ่ายของกิจกรรมที่เกี่ยวกับการดำเนินงานให้ดูเป็นอย่างๆ (เช่น เงินสดรับจ่ายจากลูกค้า เงินสดรับจ่ายจากซัพพลายเออร์) นั้นค่อนข้างจะยุ่งยาก หลักบัญชีจึงยอมให้บริษัทแสดงกระแสเงินสดเกี่ยวกับการดำเนินงานทางอ้อม (INDIRECT METHOD) โดยเริ่มต้นจากกำไรสุทธิ แล้ว reconcile กลับด้วยรายการที่ไม่เกี่ยวกับเงินสดต่างๆ จนกระทั้งกลายเป็นกระแสเงินสดเกี่ยวกับดำเนินงาน
.
คนที่ไม่ใช่นักบัญชีเวลาอ่านรายการในกระแสเงินสดเกี่ยวกับการดำเนินงานแล้วพยายามจะนึกภาพตาม ว่าจริงๆแล้วแต่ละบรรทัดมันเกิดขึ้นอย่างไรเลยมักจะงง เพราะจริงๆแล้ว รายการพวกนี้เป็นเพียงแค่ item ที่มา reconcile ทางบัญชีให้กำไรสุทธิถอยกลับมาเป็นกระแสเงินสดเท่านั้น สรุปก็คือ เห็นแล้วก็ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก เหลือบไปดูบรรทัดสุดท้ายที่เขียนว่า เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน เลยดีกว่า ตัวนี้เป็นเสมือนตัวเลขที่บอกว่า ธุรกิจนี้ผลิตเงินสดไปได้เท่าไรตลอดรอบบัญชีนั้น ซึ่งควรจะเป็นบวก (ถ้าเป็นลบแสดงว่ายิ่งขยันยิ่งขาดทุน) และจะให้ดีควรมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงจากงวดที่แล้วไปในทิศทางเดียวกันกับกำไรสุทธิในงบกำไรขาดทุนของบริษัทด้วย ถ้าหากกำไรวิ่งไปทาง กระแสเงินสดวิ่งไปอีกทาง อาจเป็นไปได้ว่าบริษัทอาจกำลังสร้างภาพอะไรบางอย่างอยู่รึเปล่า
.
บางบริษัทชอบ capitalize ค่าใช้จ่ายต่างๆเอาไว้ในงบดุล แทนที่จะตัดจ่ายออกมาเพื่อทำให้กำไรที่โชว์ออกมาดูสูง (ค่าใช้จ่ายน้อย) เช่น พวกค่าสิทธิ์ต่างๆ ค่าพัฒนาซอฟต์แวร์ ค่าซื้อกิจการ หรือแม้แต่ค่าโฆษณา บริษัทชอบอ้างว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเหล่านี้ที่มี future benefit เลยขอตั้งเป็นสินทรัพย์เอาไว้ก่อนแล้วค่อยทยอยตัดจ่ายออกมาทีหลัง เพื่อให้กำไรในระยะสั้นดูดี พอนานๆไป ก็ค่อยตัดด้อยค่าเป็นรายการใหญ่ๆออกมา แล้วบอกว่านักลงทุนไม่ต้องไปสนใจ เพราะเป็นรายการพิเศษเกิดขึ้นครั้งเดียว แต่ทำเช่นนี้อยู่เนื่องๆ ทำให้กำไรในยามปกติดูสูงกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าหากเราดูแต่งบกำไรขาดทุนอย่างเดียว ไม่ตรวจกระแสเงินสดด้วยว่าไปในทิศทางเดียวกันหรือเปล่า ก็จะถูกบริษัทตบตาด้วยวิธีการแบบนี้ได้
.
กระแสเงินสดกลุ่มถัดมาคือ กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน อันนี้หมายถึง บริษัทได้จ่ายเงินออกไปเพื่อสร้างอนาคตอะไรบ้างระหว่างงวด เช่น ลงทุนซื้อที่ดิน เครื่องจักร อาคาร หรือกิจการต่างๆ กระแสเงินสดในกลุ่มนี้เราแยกออกมาจากกระแสเงินสดเกี่ยวกับการดำเนินงาน เพราะเป็นรายการที่จ่ายไปเพื่ออนาคต รายได้ยังไม่ได้เข้ามาจริงในงวดปัจจุบัน ถ้านำมารวมกันจะทำให้ดูเหมือนธุรกิจมีรายจ่ายสูงเกินจริง เพราะที่จริงแล้วพวกนี้เป็นรายจ่ายเพื่อสร้างอนาคต โดยปกติแล้วเงินสดสุทธิในกิจกรรมการลงทุนมักเป็นเลขติดลบ เพราะเป็นการจ่ายเงินออกไปเพื่อลงทุนซื้อสิ่งของต่างๆ
.
กลุ่มสุดท้ายในงบกระแสเงินสดคือ กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน ได้แก่ รายรับรายจ่ายทั้งหลายที่เกี่ยวกับเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นของบริษัท เช่น เงินกู้รับ เงินจ่ายคืนหนี้ เงินปันผล เงินเพิ่มทุนรับ เป็นต้น รายการเหล่านี้ถูกแยกออกมาอีกหมวดหนึ่งต่างหากก็เพราะไม่ได้เกิดจากการทำธุรกิจ บางบริษัทอาจมีกระแสเงินสดดีเยี่ยม เพราะว่ากู้แหลก หรือเจ้าของรวยใส่เงินอุดตัวแดงเข้ามาเรื่อยๆ แต่ที่จริงแล้วตัวธุรกิจเองขาดทุนย่อยยับไม่ทำเงิน
.
โดยมากแล้วเวลาดูงบกระแสเงินสด ผมก็เพียงแต่ดูกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานว่าเป็นบวกและไปในทิศทางเดียวกันกับกำไรสุทธิในวบกำไรขาดทุนหรือไม่ บางคนบอกว่า กระแสเงินสดดำเนินงานบวกกระแสเงินสดลงทุนจะต้องเป็นบวกด้วย แต่สำหรับผมคิดว่าไม่จำเป็น เพราะถ้าหากธุรกิจมีโอกาสในการเติบโตสูง บริษัทอาจลงทุนมากกว่ากระแสเงินสดที่ผลิตได้เอง ทำให้กระแสเงินสดติดลบ (ต้องอาศัยกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินช่วย) แต่ไม่น่าห่วง เพราะเป็นการลงทุนเพิ่มการเติบโตในอนาคต (รายได้ของบริษัทควรเติบโตสูงด้วยจึงจะน่าเชื่อถือ) เว้นแต่ว่า เราไม่เชื่อว่าธุรกิจนี้จะเติบโตได้อีกและควรที่จะจ่ายเงินสดออกมาตอบแทนผู้ถือหุ้น (ปันผล) มากกว่าที่จะนำเงินกลับไปลงทุนเพิ่มในธุรกิจอีก
.
ตัวเลขอีกตัวหนึ่งที่มีประโยชน์กับเราในงบกระแสเงินสดคือ “ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจ่าย” เพราะเป็นตัวเลขที่ทำให้เรารู้ว่า ในรอบบัญชีนั้นบริษัทได้ตัดจ่ายค่าเสื่อมไปเป็นค่าใช้จ่ายเท่าไร ส่วนใหญ่แล้วตัวเลขนี้มักอยู่ในบรรทัดต่อจากกำไรสุทธิในกลุ่มกระแสเงินสดดำเนินงาน ถ้าเราเอา EBIT ในงบกำไรขาดทุนมาบวกกลับด้วยตัวเลขนี้จะได้เป็นสิ่งที่เรียกว่า EBITDA ซึ่งนักวิเคราะห์นิยมนำมาใช้เป็นตัวแทนของ “กำไรที่เป็นเงินสด” ของบริษัท บางคนนิยมมอง EBITDA มากกว่า EBIT เพราะค่าเสื่อมเป็นอะไรที่เกี่ยวกับนโยบายทางบัญชีมาก อาจเป็นช่องโหว่ของการตบตานักลงทุนได้ ทำให้ได้ภาพที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับผลประกอบการในงวดปัจจุบัน การเอาค่าเสื่อมออกไปแล้วดูเฉพาะ EBITDA แทนอาจได้ภาพที่ดูสะอาดกว่า บางคนเรียก EBITDA ว่า Earnings before I tricked dumb analysts (แต่จริงๆ EBITDA ก็มีข้อเสียในแง่อื่นด้วย ดูประกอบไปทั้งสองอย่างนั้นแหละชัวร์กว่า)
.
นี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งด้วยที่ทำให้ผมสนใจตัวเลขรายได้ในงบการเงินมากกว่าตัวเลขอื่นเพราะมันเป็นตัวเลขในบรรทัดเริ่มต้น (topline) ที่ยังไม่ได้ผ่านการถูกบิดเบือนโดยนโยบายบัญชีมากนัก ยิ่งตัวเลขที่อยู่ต่ำลงมาในงบการเงินเท่าไรมันก็ยิ่งถูกบิดเบือนได้ง่ายด้วยนโยบายทางบัญชีต่างๆ กำไรสุทธิที่เราสนใจกันมากที่สุดนั้นอยู่ในบรรทัดสุดท้าย (bottom line) ของงบการเงินเลย จึงไม่รู้ว่าตลอดทางที่ผ่านมาในแต่ละบรรทัดมันถูกบิดเบือนโดยตัวเลขในบรรทัดบนๆ ไปมากขนาดไหนแล้ว
.
####
.
งบการเงินสำหรับนักลงทุน (5/5) : ratio analysis
.
Thursday, 25 November 2010
.
วิธีตรวจงบการเงินที่ง่ายที่สุดคือ การวัดอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ หรือที่เรียกว่า Ratio Analysisอัตราส่วนทางการเงินนั้นมีอยู่ด้วยกันมากมายหลายตัวมาก เราอาจตรวจดูอัตราส่วนหลายๆตัวพร้อมกัน เพื่อเป็นการตรวจสุขภาพโดยทั่วไปของบริษัทก็ได้ ต่อไปนี้เป็นอัตราส่วนสำคัญ 6 ตัว ที่ผมแนะนำให้ลองตรวจสอบดูก็จะได้ภาพของธุรกิจที่ครอบคลุมพอสมควร
.
1. Quick Ratio = (เงินสดและเทียบเท่า + ลูกหนี้การค้า + ตราสารการเงินระยะสั้น) / หนี้สินหมุนเวียน
.
Quick Ratio ใช้เช็ค “สภาพคล่อง” ของบริษัท โดยลองสมมติว่าถ้าเจ้าหนี้ระยะสั้น (หนี้สินหมุนเวียน) ทั้งหมดมาทวงหนี้พร้อมกัน บริษัทจะยังสามารถหมุนเงินสด (จากสินทรัพย์หมุนเวียนที่หมุนได้เร็ว) มาใช้คืนได้หรือไม่ โดยสามัญสำนึก Quick Ratio ก็ควรมากกว่า 1.0 และยิ่งมากก็ยิ่งดี ที่จริงแล้วมีอัตราส่วนอีกตัวที่คล้ายกันชื่อ Current Ratio ซึ่งนับรวมสินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมดของบริษัทว่าเป็นสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว แต่ผมไม่ชอบ เพราะไม่รู้ว่าสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ คืออะไรบ้าง และเวลาบริษัทขาดสภาพคล่องส่วนใหญ่แล้วสินค้าคงคลังมักจะหมุนไม่ค่อยออก เลยชอบดู Quick Ratio มากกว่าครับ
.
2. Return on Assets (ROA) = EBIT * (1-Taxrate) / สินทรัพย์เฉลี่ย
.
สินทรัพย์เฉลี่ย ROA ใช้วัดผลตอบแทนของธุรกิจ เพราะวัดกำไร(EBIT)ที่ทำได้ เทียบกับเงินทุนที่จมอยู่ในสินทรัพย์ทั้งหลายของกิจการ (ต้องเฉลี่ยต้นปีกับท้ายปีเอา เพราะว่าไม่เท่ากัน) โปรดสังเกตว่า ผลตอบแทนของธุรกิจที่แท้จริงนั้นต้องวัดเทียบกับสินทรัพย์มิใช่รายได้ เพราะสุดท้ายแล้ว ต้นทุนจริงๆของผู้ถือหุ้นคือเงินทุนที่จมอยู่ในรูปของสินทรัพย์ของบริษัทแทนที่จะเอาเงินนั้นไปหาผลตอบแทนอย่างอื่น บางคนใช้ Net Income แทนกำไร แต่ผมคิดว่าควรใช้ EBIT มากกว่า เพราะสินทรัพย์เป็นของเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นรวมกัน แต่ Net Income เป็นผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นเท่านั้น เพราะหักดอกเบี้ยออกไปแล้ว ส่วนเหตุที่ต้องคูณด้วย 1-TaxRate เป็นเพราะ EBIT นั้นยังไม่ได้หักภาษีซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทออก มีอัตราส่วนอีกตัวหนึ่งที่คล้ายกันคือ ROE ซึ่งวัดผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นอย่างเดียว แต่ผมเห็นว่า ROA นั้นดีกว่า ROE เพราะธุรกิจอย่างเดียวกัน อาจมี ROE ต่างกันได้ด้วยการกู้เงิน ถ้าอยากวัดศักยภาพของธุรกิจจริงๆ โดยไม่เกี่ยวกับการกู้เงิน ต้องดูกันที่ ROA ธุรกิจทั่วไปควรมี ROA อย่างน้อย 10% เฉลี่ยในระยะยาว ยกเว้นพวกสถาบันการเงินซึ่งไม่มีทางทำ ROA สูงเท่ากับ Real Sector ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ดี
.
3. Debt to equity Ratio = (หนี้สิน) / ส่วนของทุน
.
ส่วนของทุน D/E ratio คือ อัตราส่วนมาตรฐานที่ใช้ตรวจดู Leverage ของบริษัท หมายความว่า บริษัทใช้หนี้มากขนาดไหนในการเร่งผลตอบแทน เพราะบริษัทสองบริษัทที่ทำผลตอบแทนทางธุรกิจได้เท่ากัน บริษัทที่มีหนี้มากกว่าจะทำผลตอบแทนกลับสู่ผู้ถือหุ้นได้สูงกว่า (ROE มากกว่า) เนื่องจากใช้เงินทุนของผู้ถือหุ้นน้อย แล้วอาศัยการกู้เงินมาทุนแทน การที่บริษัทมี D/E ratio ที่สูงเกินไป จึงแสดงถึงความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ในผลตอบแทนที่มากกว่า เพราะถ้าธุรกิจสะดุด บริษัทที่มีหนี้มากกว่าย่อมเดือดร้อนมากกว่าอย่างไรก็ตาม การที่บริษัทไม่มีหนี้เลยไม่ได้แปลว่าเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป บริษัทที่มีธุรกิจมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว และมีสินทรัพย์ถาวรที่สามารถใช้ค้ำประกันหนี้ได้ การมีหนี้น้อยเกินไปเท่ากับเป็นการละทิ้งโอกาสที่จะประหยัดภาษี เพราะหนี้เป็น Tax-shield อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นการมีหนี้บ้างไม่ใช่เรื่องเสียหาย อาจเป็นเรื่องที่ควรกระทำเสียด้วยซ้ำ แต่ที่เราต้องระวังคือการมีหนี้มากจนเกินไปจนทำให้ธุรกิจเกิดความเสี่ยงมากกว่าที่จะช่วยทำให้ประหยัดภาษี สำหรับธุรกิจทั่วไปควรมี D/E ไม่เกิน 1.0 ถ้าเป็นธุรกิจซื้อมาขายไปอาจมี D/E ได้ถึง 3.0 ยกเว้นพวกสถาบันการเงินที่จะต้องมี D/E ที่สูงกว่านั้นมากครับ
.
4. Interest Coverage Ratio = (EBIT) / ดอกเบี้ยจ่าย
.
ดอกเบี้ยจ่าย Interest Coverage Ratio ใช้ประมาณความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งแหล่งเงินภายนอกบริษัท เพราะถ้าบริษัทมีภาระจ่ายดอกเบี้ยต่อปีน้อยกว่ากำไรที่ได้จากธุรกิจมากๆ บริษัทก็สามารถรับผิดชอบภาระดอกเบี้ยได้ด้วยผลกำไรจากธุรกิจเอง นับว่าเป็นความมั่นคงอย่างหนึ่งของธุรกิจในแง่ของสภาพคล่อง บริษัทที่มีค่านี้น้อยกว่า 2.0 แสดงว่าผลตอบแทนส่วนใหญ่ของธุรกิจตกอยู่ในมือเจ้าหนี้ แทนที่จะเป็นของผู้ถือหุ้น ซึ่งอาจแสดงถึงการกู้เงินที่มากเกินไปด้วย
.
5. Asset Turnover = (รายได้) / สินทรัพย์
.
สินทรัพย์ Asset Turnover ใช้วัด “ประสิทธิภาพ” ของธุรกิจ เพราะวัดว่าภายใต้สินทรัพย์ที่มีอยู่จำนวนหนึ่ง บริษัทสามารถสร้างรายได้ได้มากแค่ไหน ยิ่งสร้างรายได้ได้มากแสดงว่าสินทรัพย์ของบริษัทถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่า เพราะนำไปหมุนให้เปลี่ยนเป็นเงินได้เร็ว บางบริษัทขายของกำไรน้อยมาก แต่สินค้าหมุนเวียนเร็ว ก็สามารถสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจที่สูงกว่าได้เหมือนกัน Asset Turnover จึงเป็นตัวเลขที่ไม่ควรมองข้าม ครั้งหนึ่งผมเคยเปรียบเทียบมาร์จิ้นของบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้วเห็นว่าเหมือนๆกันหมด แต่พอลองดู Asset Turnover ก็เห็นว่าแตกต่างกันมาก ทำให้ผมเกิดความสนใจบริษัทที่มี Asset Turnover สูงกว่าเพื่อน เพราะแสดงว่าจริงๆ แล้วบริษัทนี้ใช้สินทรัพย์ได้มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่เวลาดูมาร์จิ้นแล้วไม่เห็นความแตกต่างเป็นเพราะลูกค้าของอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างมีการเปรียบเทียบราคาสูงมาก ทำให้ไม่มีบริษัทไหนสามารถเอากำไรเกินตลาดได้ แล้วในที่สุดก็ทำให้ผมได้ค้นพบหุ้นชั้นยอดในเวลาต่อมา ถ้าเราดูแต่มาร์จิ้นเราจะไม่พบความแตกต่างตรงนี้ครับ
.
6. Inventory Turnover = (ต้นทุนสินค้าขาย) / สินค้าคงคลังเฉลี่ย
.
สินค้าคงคลังเฉลี่ย อันนี้เหมือน Asset Turnover แต่วัดกันที่การหมุนสินค้าคงคลังอย่างเดียวเลย เป็นการเช็คว่าสินค้าของบริษัทหมุนเวียนดีหรือไม่ มี dead stock ที่อาจเสื่อมค่าในอนาคตได้เยอะหรือไม่ เป็นตัวเลขที่สำคัญมากสำหรับธุรกิจที่ขายสินค้าที่แตกต่าง เพราะแม้ว่าสินค้าที่แตกต่างมักจะทำมาร์จิ้นได้สูง แต่ถ้ามีส่วนที่ขายไม่ออกเยอะมาก (ซึ่งปกติต้องมีส่วนหนึ่งอยู่แล้ว) ถึงเวลาต้องมาตัดขาดทุนทิ้ง ทำให้สรุปแล้วอาจทำกำไรได้น้อยหรือขาดทุนเลยก็ได้ ถ้าเอา 365 ตั้งหารด้วย Inventory Turnover จะได้อัตราส่วนใหม่ที่เรียกว่า Days Inventory Turnover มีหน่วยเป็น วัน ซึ่งหมายถึงระยะเวลาโดยประมาณที่สินค้าของบริษัทจะค้างอยู่ในคลังก่อนที่จะทำยอดขายให้บริษัทได้ ถ้ายิ่งมีค่าน้อยก็แสดงว่าสินค้าซื้อง่ายขายคล่อง ขายได้แบบแทบไม่ต้องขนขึ้นบ้านเลย เป็นต้น
.
งบการเงินสำหรับนักลงทุน
.
โดย นรินทร์  โอฬารกิจอนันต์
1 Star2 Stars3 Stars4 Stars5 Stars (3 votes, average: 5.00 out of 5)

http://www.sarut-homesite.net/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B3-%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AA/

นิสัยเซียน : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร



นิสัยเซียน : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

นิสัยเซียน : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

1 Star2 Stars3 Stars4 Stars5 Stars (4 votes, average: 4.75 out of 5)
.
เซียนหุ้นชั้นนำของโลกแต่ละคนมักมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน แต่ละคนมักมีเอกลักษณ์ของตนเอง แต่ศึกษาดูจะพบว่าเซียนเหล่านั้นมักมีนิสัยเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันในหลายๆเรื่อง และต่อไปนี้คือนิสัยที่ผมคิดว่าเราควรศึกษาและประยุกต์ใช้ ถ้าเราอยากจะเป็น “เซียน” บ้าง
.
รื่องแรกก็คือ เซียนตัวจริงนั้น เวลาลงทุน เรื่องที่คิดมากที่สุดกลับไม่ใช่ว่าจะทำกำไรได้มหาศาลแค่ไหน แต่เป็นว่า จะรักษาเงินต้นเอาไว้ได้อย่างไร และนี่ก็คือกฎข้อหนึ่งและข้อสองของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ซึ่งบอกว่า หลักการลงทุนที่สำคัญที่สุดก็คือ อย่าขาดทุน และอย่าขาดทุน
.
เรื่องที่สองก็คือ การลงทุนนั้น เซียนแต่ละคนจะมีหลักปรัชญา หลักการ และวิธีการลงทุนที่ชัดเจนเป็นแบบฉบับของตนเอง ไม่มีการมั่วหรือเป็น “มวยวัด” สิ่งต่างๆเหล่านั้นถูกพัฒนาและทดสอบมาเป็นอย่างดีเป็นเวลายาวนาน และจะไม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกลับไปกลับมา
.
เรื่องที่สามก็คือ เซียนหุ้นนั้นไม่ชอบความเสี่ยงแต่ชอบความแน่นอน และความ “ได้เปรียบ” เวลาจะลงทุนอะไรมักจะคิดถึงโอกาสชนะว่ามีสูงกว่าโอกาสที่จะแพ้มากน้อยแค่ไหน ถ้าโอกาสชนะมากกว่าแพ้เพียงเล็กน้อย เขามักจะ “ไม่เล่น” เพราะฉะนั้น เราจะไม่เห็นคนเหล่านี้เล่นรูเล็ตหรือเข้าคาสิโนเพื่อการพนันซึ่งโอกาสชนะมี แค่ 30-40% ขณะที่โอกาสแพ้อยู่ที่ 60-70% แต่การลงทุนที่โอกาสชนะสูงมากๆนั้นมีไม่มาก ดังนั้นเซียนจึงมักไม่เล่นหรือลงทุนบ่อยนัก
.
เรื่องที่สี่ก็คือ เซียนนั้นลงทุนในสิ่งที่ตนเองรู้จักดี มีการวิเคราะห์และคิดเอง ไม่เชื่อคนอื่นโดยไม่ได้พิจารณาด้วยตนเองอย่างลึกซึ้ง ในทางตรงกันข้าม เซียนจะไม่ลงทุนในสิ่งที่ตนเองไม่เข้าใจ หรือการลงทุนนั้นไม่เข้าเงื่อนไขที่ตนเองกำหนด หรือตนเองไม่สบายใจที่จะลง ตัวอย่างเช่นหุ้นที่มีค่า PE และ/หรือ PB สูงเกินไป หุ้นที่ผู้บริหารไม่น่าไว้วางใจ เป็นต้น แม้ว่าหุ้นเหล่านั้นอาจจะทำกำไรให้ได้ง่ายและเร็วในบางสถานการณ์
.
นิสัยที่ห้าก็คือ เซียนส่วนใหญ่จะไม่ “กระจายความเสี่ยง” โดยการกระจายการถือหุ้นมากเกินไป เซียนมักจะมีหุ้นหลักตัวใหญ่ๆในพอร์ตซึ่งเป็นตัวที่จะกำหนดผลงานหรือความเป็นความตายในการลงทุนเพียงไม่กี่ตัว แม้ว่าเขาจะมีหุ้นย่อยๆเป็น 10 หรือ 100 และแม้แต่ 1,000 ตัว อย่างพอร์ตของ ปีเตอร์ ลินช์ หุ้นตัวหลักๆเหล่านั้นก็คือหุ้นที่สร้างความแตกต่างและทำให้เซียนเป็นเซียนขึ้นมาได้
.
ข้อสรุปในเรื่องนี้ก็คือ การเป็นเซียนนั้น คุณไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกหุ้นถูกทุกตัวหรือแม้จะเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ ข้อสำคัญก็คือ ในหุ้น 10 ตัว คุณอาจจะเลือกถูกเพียง 3 ตัว แต่ถ้าหุ้น 3 ตัวนั้นเป็นหุ้นที่ทำกำไรมหาศาลก็เพียงพอแล้วสำหรับผลงานที่ดีเยี่ยม
.
นิสัยที่หกก็คือ เซียนหุ้นตัวจริงนั้นมี “EQ” ของการลงทุนสูง ไม่ใคร่หวั่นไหวกับภาวะตลาดผันผวนหรือข่าวต่างๆ ที่อาจจะดูรุนแรงแต่ผลกระทบจริงต่อการลงทุนมีน้อย นิสัยในกลุ่มนี้ที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญก็คือ เซียนหุ้นนั้นมักใจเย็น สามารถอดทนรอได้อย่าง “ไม่มีเวลาจำกัด” ถ้ายังไม่เห็นโอกาส ขณะเดียวกัน ถ้าเห็นโอกาส “ลอยมาตรงหน้า” เซียนหุ้นสามารถตัดสินใจ และลงมือได้ทันทีไม่มีการผัดวันประกันพรุ่ง หรือต้องไปศึกษาพินิจพิจารณายืดยาว ความรู้สึกของผมก็คือ เซียนหุ้นชั้นนำคงจะมีความคิดต่างๆอยู่ในใจที่พร้อมอยู่แล้ว เมื่อโอกาสเปิดก็คว้าได้ทันที
.
พฤติกรรมที่เจ็ดของเซียนหุ้นก็คือ ยอมรับความผิดพลาดและแก้ไขปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว ภาษาหุ้นและการลงทุนก็คือ สามารถ “Cut Loss” ได้ทันทีเมื่อเห็นว่าหลักทรัพย์ที่ตนถืออยู่ไม่เป็นไปตามที่คาดหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เหตุผลในการซื้อหมดไป พูดง่ายๆ เซียนหุ้นมักไม่ยอม “ติดหุ้น” อย่างนักลงทุนประเภท “แมงเม่า” ซึ่งไม่สามารถยอมรับความผิดพลาดโดยการขายหุ้นที่ขาดทุนมากทิ้งได้
.
ข้อแปดที่ผมเลือกมาก็คือ เซียนหุ้นนั้น เวลาลงทุนแต่ละครั้งจะต้องมี “Story” หรือเรื่องราว หรือเหตุผลหลักว่าทำไมจึงลงทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์นั้น ซึ่งไม่ใช่เพราะคิดว่าราคาหุ้นจะขึ้น แต่จะต้องเป็นเรื่องอื่นๆที่เมื่อเกิดขึ้นจะส่งผลต่อราคาหุ้นในที่สุด เรื่องราวอาจเป็นได้ทั้งเรื่องระยะสั้นหรือระยะยาว อาจเป็นได้ทั้งเรื่องของตัวธุรกิจเอง หรือเรื่องภายนอกที่จะส่งผลอย่างสำคัญต่อตัวธุรกิจและราคาหลักทรัพย์ในที่สุด
.
นิสัยที่เก้าก็คือ เซียนหุ้นนั้นมักจะเป็นคนบ้าหุ้น หายใจเข้าออกเป็นเรื่องของการลงทุน ทรัพย์สมบัติส่วนใหญ่ของตนมักจะอยู่ในหลักทรัพย์ การลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ แต่ไม่ใช่คนที่เฝ้ากระดานหุ้น ติดตามราคาหุ้นทุกนาที เพราะเซียนหุ้นตัวจริงนั้นไม่จำเป็นและมักไม่สนใจการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ในระยะสั้น เซียนหุ้นชอบศึกษาและติดตามความเป็นไปของกิจการ ภาวะแวดล้อม และประเด็นอื่นๆที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์มากกว่า
.
สุดท้ายก็คือ นิสัยส่วนตัวของเซียนการลงทุน ที่ดูแล้วก็น่าแปลก ค่าที่ว่าเซียนหุ้นมักจะเป็นคนที่มีความมั่งคั่งมหาศาล (ถ้าไม่มั่งคั่ง ใครจะเรียกว่าเป็นเซียน!) แต่ส่วนใหญ่แล้วกลับใช้ชีวิตธรรมดาแบบคนชั้นกลางระดับสูงเล็กน้อย และไม่มีใครเลยที่ใช้ชีวิตความเป็นอยู่สูงกว่าระดับความมั่งคั่งของตนเอง ทั้งที่ดูไปแล้ว เงินสำหรับเซียนนั้น หามาได้ง่ายและเร็ว แต่คนเหล่านั้นกลับไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ชอบใช้เงินในสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือใช้เงินไม่คุ้มค่า
.
นิสัยทั้ง 10 ข้อนี้ ไม่ได้หมายความว่าเซียนทุกคนต้องมีเหมือนกันหมด เพียงแต่เป็นนิสัยที่เซียนหลายๆคนที่ผมศึกษามี และผมคิดว่านิสัยหลายๆข้อมีส่วนสำคัญในการสร้างความสำเร็จในการลงทุนให้แก่เขาและผมเชื่อว่า ถ้า Value Investor นำเอาไปใช้และทำให้เป็นนิสัย โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนคงจะมีสูงขึ้น
.
นิสัยเซียน
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
22 ตุลาคม 2547
1 Star2 Stars3 Stars4 Stars5 Stars (4 votes, average: 4.75 out of 5)

http://www.sarut-homesite.net/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99-%E0%B8%94%E0%B8%A3-%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B9%8C-%E0%B9%80%E0%B8%AB/