วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

ปัจจัย 4 ในการลงทุน



Blog 8 : ปัจจัย 4 ในการลงทุน

Blog 8 : ปัจจัย 4 ในการลงทุน

1 Star2 Stars3 Stars4 Stars5 Stars (1 votes, average: 5.00 out of 5)

เมื่อเดือนก่อน ผมได้โพสตอบกะทู้ โดยเนื้อหาที่โพสคือ ปัจจัยสำคัญในการลงทุน (ในมุมมองของผมเอง)
พอดีเห็นว่าน่าจะนำมาเขียนขยายความต่อได้ ประกอบกับนานๆจะได้อัพ blog ซักทีนึง ฮ่าๆๆ เลยถือโอกาสนี้เขียนขยายความเรื่องเดิมครับ
(กะทู้ที่ว่าคือ : มือใหม่อยากลงทุนหุ้นแนว VI ต้องอ่านหนังสืออะไรบ้างมาดูกันครับ)
####
ปัจจัยหลักๆที่สำคัญในการลงทุนในมุมมองของผม ก็คือ หลักการ, ความรู้, EQ และ ประสบการณ์ ผมว่าปัจจัย 4 อันนี้มีความสำคัญเท่าๆกันหมด จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ (แต่สามารถมีมากกว่า 4 อย่างได้)
ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จในการลงทุน เราต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้ และต้องพัฒนาไปทุกๆด้านครับ
1. หลักการ : อยู่ที่ว่าคุณเล่นหุ้นแนวไหน ก็ให้นำหลักการของสายนั้นมาใช้ ดูกราฟก็เชื่อกราฟ ดูพื้นฐานก็เชื่อพื้นฐานครับ หรือจะเป็นแนวผสมก็ได้ ผมสังเกตุว่าเดี๋ยวนี้คนเล่นแนวผสมมีเยอะมากครับ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรือประหลาดอะไร
ใครถนัดใช้เครื่องมืออะไรก็ใช้ไปครับ แต่ขอให้คุณลงทุนอย่างมีความสุข และได้กำไรก็เพียงพอแล้วครับ ที่สำคัญคืออย่าขาดทุนนะครับ
ผมชอบประโยคนึงของพี่คลายเครียด ที่เขียนไว้ในหนังสือ VSOP ว่า “ถ้าเราใช้หลักการไหนแล้วยังได้เงินได้กำไรอยู่เรื่อยๆ ก็ให้ใช้หลักการนั้นต่อไป แต่ถ้าใช้แล้วไม่ได้เงินก็ให้ลองเปลี่ยนแนวดู จนกว่าจะเจอแนวทางที่ลงตัว”
แต่ทั้งนี้ ทุกคนควรจะมีหลักการลงทุนเป็นของตัวเองนะครับ สไตล์ใครสไตล์มัน ซึ่งของแบบนี้ผมว่าเลียนแบบกันไม่ได้
เมื่อถึงจุดนึงผมเชื่อว่า ทุกคนจะมีแนวทางการลงทุนเป็นของตัวเองครับ ถึงแม้จะยึดหลักการเดียวกันก็ตาม
2. ความรู้ : เมื่อมีหลักการแล้ว ก็ต้องมีความรู้จริงในหลักการที่เราใช้นะครับ หรือ เข้าถึงแก่นแท้ของหลักการนั่นเอง บางคนรู้อย่างผิดๆ ใช้อย่างผิดทาง พอขาดทุนก็มาโทษหลักการซะงั้น
รวมไปถึงมีความรู้รอบตัว และควรจะรู้เรื่องธุรกิจ-เศรษฐกิจ, เศรษฐศาสตร์ เอาไว้บ้าง เพราะเราจะสามารถนำความรู้เหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ต่างๆได้ครับ เพราะในตลาดหุ้นมักเกิดสถานการณ์พิเศษที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนอยู่เสมอๆ
3. EQ : จิตใจต้องหนักแน่น มั่นคงในหลักการที่เราเลือกใช้(ถ้าไม่เชื่อในหลักการ แล้วเราจะเลือกใช้ไปทำไม)
นอกจากนั้น สิ่งสำคัญคือ คุณต้องไม่หวั่นไหวไปตามกระแสฝูงชน(ไม่แห่ตามโดยไม่มีเหตุผล) มีความคิดที่เป็นอิสระ และเป็นตัวของตัวเองครับ
นักลงทุนหลายๆท่านที่ประสบความสำเร็จ ก็เพราะมี EQ ที่สุดยอดนี่ละครับ
4. ประสบการณ์ : ยิ่งลงทุนนาน ประสบการณ์ก็ยิ่งมากตามครับ เริ่มลงทุนก่อน เริ่มลงทุนเร็ว ได้เปรียบเห็นๆครับข้อนี้
ผมว่าเรื่องจำนวนเงินเริ่มต้นไม่สำคัญเท่าประสบการณ์นะครับ หลายคนชอบเกี่ยงว่าไม่มีเงินจะมาเล่นหุ้น เพราะเงินน้อย รอมีเงินมากๆก่อนค่อยมาลงทุน
แต่ผมมองแบบนี้นะครับ สมมติ มีเรากับเพื่อน เริ่มแรกเงินเราน้อยมาก แต่เราเริ่มลงทุนเลย ไม่สนว่าเงินน้อยเงินมาก ในขณะที่เพื่อนบอก ขอรอมีเงินเยอะๆก่อนค่อยมาสนใจด้านนี้(ด้านการลงทุน) เพราะเห็นว่าเงินทุนน้อย เวลาได้กำไรก็ได้น้อย(คนส่วนใหญ่จะคิดกำไรเป็นตัวเงิน ไม่ได้คิดผลตอบแทนเป็น % แล้วเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ เช่น เงินฝาก)
เวลาผ่านไปซัก 5 – 10 ปี ถ้าเราลงทุนอย่างถูกวิธี มีหลักการที่ดี ก็ควรจะได้เงินมามากพอสมควร(ตามผลตอบแทนที่ทำได้) ในขณะที่เพื่อนเราเพิ่งเริ่มมีเงินก้อน แล้วเริ่มคิดมาลงทุนบ้าง
ถามว่า ในเวลานั้นใครได้เปรียบครับ เทียบกับเราที่ประสบการณ์เริ่มโชกโชน แน่นอนว่าเราได้เปรียบเห็นๆเพราะต่อให้คุณมีเงินทุนเริ่มต้นมากขนาดไหน ยังไงทุกคนก็ต้องลองผิดลองถูกไปอีกซักระยะครับ บางคนอาจจะเสียเวลา เสียเงินไปมากด้วยกับช่วงแรกๆ กว่าที่จะเริ่มลงทุนได้เก่ง หรือเริ่มจับทางได้แล้ว
4 ข้อด้านบนนั้น ผมว่าเป็นปัจจัย 4 ที่สำคัญ ที่นักลงทุนทุกคนควรจะมีติดตัวครับ ขาดข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้ เหมือนปัจจัยพื้นฐาน 4 ประการในการดำรงชีวิต
ทั้งนี้ บางคนอาจจะเสริมปัจจัยที่ 5 หรือ 6 หรือมากกว่านั้น เข้ามาเสริมตัวเองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุน เช่น คุณมีปัจจัย 4 ครบถ้วนแล้ว คุณก็เพิ่มปัจจัย 5 และ 6 คือ คุณมีเงินลงทุนเยอะมาก หรือ คุณมี connection ที่ดี กว้างขวาง คนรู้จักเยอะ คุณก็เหมือนติดปีกเลยนะครับ เปรียบเหมือนกับที่คนเราเสริมความสบายด้วย รถยนต์ หรือ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ที่ทำให้ชีวิตของเราง่ายและสะดวกมากขึ้นครับ
การเพิ่มปัจจัยที่ 5 6 และอื่นๆเพิ่มมา ก็จะทำให้การลงทุนของคุณง่ายขึ้น รวมไปถึงมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นด้วยครับ
แต่สุดท้ายแล้วผมเชื่อว่า ขอแค่คุณมีปัจจัย 4 ให้ครบ และมีพัฒนาการไปเรื่อยๆ คุณก็จะสามารถใช้ชีวิตในโลกการลงทุนได้สบายๆแล้วละครับ
ปัจจัย 4 ในการลงทุน
i_sarut
SHIC : Sarut-Homesite Investment Club
www.sarut-homesite.net
20 กันยายน 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น